ตะลุยฝั่งธนฯ ย่านคลองสานในรูปแบบ One day Trip เยือนสถานที่ประวัติศาสตร์ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ฝั่งธนบุรี ตามแนวรถไฟฟ้าสายที่สีทอง ที่เพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ พร้อมเติมเต็มความประทับใจส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
ชมศิลปะไทยผสมจีนในวัดเก่า
เริ่มต้นที่แรก ชมความงดงามกันที่ “วัดพิชยญาติการาม” หรือ “วัดพิชัยญาติ” แห่งนี้โดดเด่นด้วยพระอุโบสถ ภายในประกอบด้วยภาพจิตรกรรมศิลปะไทย และศิลปะจีน รอบฐานด้านนอกตกแต่งด้วยหินแกรนิตสลักลายพงศาวดารจีน เรื่องสามก๊ก ซึ่งศิลปกรรม ประติมากรรม และการวางแบบแปลนของวัด ล้วนแล้วเป็นลักษณะเด่นที่รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดทั้งสิ้น
โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ขณะดำรงบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา” ได้ปรับปรุง สถาปนาขึ้นใหม่ทั้งหมด แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ 3 และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามให้เป็น “วัดพิชยญาติการาม”
สัมผัสบ้านจำลองของสมเด็จย่า กลางสวนสีเขียวสุดร่มรื่น
พื้นที่บริเวณนี้เดิมทีเป็นของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) ซึ่งต่อมาได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการอนุรักษ์ พัฒนาสถานที่ดังกล่าวให้เป็น อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
โดยมีการปรับปรุงอาคารที่เคยเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เทิดพระเกียรติสมเด็จย่า และให้จำลองบ้าน ซึ่งเคยเป็นที่ประทับครั้งทรงพระเยาว์ของสมเด็จย่า ขนาดเท่าของจริง เพื่อแสดงถึงสภาพความเป็นอยู่ของบ้านช่างทอง พร้อมทั้งพัฒนาพื้นที่เหลือให้เป็นสวนสาธารณะระดับชุมชน ที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจในช่วงวันหยุด
สัมผัสมนต์เสน่ห์ในบรรยากาศไทย – จีน ณ ท่าเรือหวั่งหลี
เสริมสิริมงคลด้วยการ สักการะศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ซึ่งเชื่อว่าเป็นเทพอุปถัมภ์ของคนเดินทะเลชาวแต้จิ๋ว และฮกเกี้ยน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และศูนย์รวมใจของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยต่อเนื่องมา 6 ชั่วอายุคน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน
ก่อนจะเดินชิล แชะรูป เช็คอิน กันที่ “โครงการล้ง 1919” สถานที่ท่องเที่ยวอบอวนไปด้วยกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตผู้คนในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเฟื่องฟูด้านการค้ากับต่างประเทศทั้งซีกโลกตะวันออก และตะวันตกในช่วงรัชกาลที่ 4 ต่อมาการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทในการค้ากับต่างชาติมากขึ้น ท่าเรือแห่งนี้จึงค่อยๆ ลดบทบาทลง ตระกูลหวั่งหลี จึงเข้ารับช่วงเป็นเจ้าของต่อ และปรับปรุงเป็นอาคารสำนักงาน ที่อยู่พนักงาน และโกดังเก็บสินค้าการเกษตรของตระกูล
กราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และให้อาหารเต่าในวัดรั้วเหล็ก
ไปต่อกันที่ “วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร” ซึ่งสร้างขึ้นโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 มีรั้วเหล็กรูปหอก ดาบและขวานโบราณล้อมรอบเป็นกำแพง โดยสมเด็จเจ้าพระยาฯ สั่งเข้ามาจากประเทศอังกฤษ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 เพื่อใช้ล้อมกำแพงในพระบรมมหาราชวัง แต่พระองค์ไม่ทรงโปรด สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงขอพระราชทานมาล้อมเป็นกำแพงวัด ทำให้ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “วัดรั้วเหล็ก”
ไหว้พระพุทธรูปปางมารวิชัย ชมความงดงามจิตรกรรมฝาผนัง
“วัดทองธรรมชาติวรวิหาร” พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร วัดเก่าแก่ และทรงคุณค่าที่สุดแห่งหนึ่งของย่านคลองสาน โดดเด่นด้วยการเป็นพื้นที่กิจกรรมทางศาสนาของชุมชนมายาวนาน โดยทุกคนจะนิยมมากราบไหว้พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระประธานภายในพระอุโบสถ เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล และชมภาพจิตรกรรมฝาผนังภายใน ที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราว และความงดงามด้านงานศิลป์
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, โรงพยาบาลตากสิน
ปิดท้ายการเดินทาง ด้วยการสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บริเวณลานลีลาวดี หน้าโรงพยาบาลตากสิน ที่พึ่งทางใจสำคัญอีกแห่งของชาวคลองสาน โดยเฉพาะบุคลากร และผู้มาใช้บริการที่โรงพยาบาลตากสิน อีกทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ยังมีความหมายเชิงประวัติศาสตร์ อย่างการสื่อถึงความเคารพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรีนั่นเอง