Monday, September 25, 2023
More

    เที่ยวทิพย์ย่านต่าง ๆ ในสิงคโปร์ ชมงานศิลป์บนกำแพงที่บอกเล่าวิถีชีวิตของชาวเมือง

    ตะลอนย่านต่าง ๆ ในสิงคโปร์ ผ่านงานศิลปะบนกำแพง (Mural Art) ของยิป ยิว ชง (Yip Yew Chong) อดีตนักบัญชีชาวสิงคโปร์ วัย 53 ปี ที่ผันตัวเองมาเป็นศิลปิน 

    มีเอกลักษณ์ของงาน อยู่ที่การเล่าเรื่องราวของชาวสิงคโปร์ จากความทรงจำในวัยเด็ก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวสิงคโปร์สมัยก่อนได้อย่างสร้างสรรค์ และมีเสน่ห์


    งานศิลปะบนกำแพงในย่านไชน่าทาวน์ของสิงคโปร์

    เริ่มต้นที่ ไชน่าทาวน์ (Chinatown) ย่านที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมจีนชวนหลงใหล ทั้งวัดวาอารามทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ร้านขายยาแผนโบราณน่าศึกษา และร้านค้าแนวไลฟ์สไตล์ท็อปลิสต์ 

    ทั้งยังโดดเด่นในเรื่องของรสชาติอาหารสไตล์จีน ที่รวมกับรสชาติอีกหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน และมีหนึ่งในวัดที่รู้จักกันดี คือ “วัดเทียนฮกเก๋ง” วัดจีนที่เก่าแก่ที่สุดในสิงคโปร์

    โดยที่กำแพงด้านหลังจะมีศิลปะบนกำแพงในชื่อ “สมาคมฮกเกี้ยน” (HokkienHuayKuan) ความยาวกว่า 44 เมตร บอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนฮกเกี้ยน ตั้งแต่การเดินทางจากประเทศจีนมาถึงสิงคโปร์ และตั้งรกรากก่อสร้างบ้านแบบจีน และใช้ชีวิตอยู่ที่ย่านไชน่าทาวน์แห่งนี้

    เทศกาลไหว้พระจันทน์

    จนถึงสุดกำแพงที่เป็นภาพวาดบรรยากาศของท่าเรือโบ๊ทคีย์ (Boat Quay) ในยุคที่ยังเต็มไปด้วยเรือเล็กบรรทุกสินค้า ก่อนจะมาเป็นย่านที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้าในปัจจุบัน 

    ทั้งอีกหนึ่งผลงานได้แก่ “เทศกาลไหว้พระจันทร์” (Mid-Autumn Festival) ภาพวาดที่บอกเล่าประเพณีการไหว้พระจันทร์ไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการประดับโคมไฟที่ทำด้วยกระดาษ เป็นรูปสัตว์หรือตัวการ์ตูน การทานอาหารมงคลอย่างขนมไหว้พระจันทร์ ส้มโอ และชา

    สัมผัส “บ้าน” ของชาวสิงคโปร์สมัยก่อนในย่านเตียง บาห์รู

    ใกล้กันเป็นย่านเตียง บาห์รู (Tiong Bahru) หนึ่งในย่านเก่าแก่ที่สุดในสิงคโปร์

    และยังเป็นย่านการเคหะย่านแรก ๆ ในสิงคโปร์อีกด้วย จึงเป็นย่านที่เราจะได้เห็นคาเฟ่ดีไซน์เก๋ ตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของบ้านเรือนแบบดั้งเดิม สไตล์โคโลเนียลสีขาวที่ดูมินิมอล และคลาสสิก 

    สามารถเข้ามาสัมผัสบรรยากาศไลฟ์สไตล์ร่วมสมัย ที่ยังคงกลิ่นอายความเก่าได้ และเป็นที่ตั้งของผลงาน “บ้าน” (Home) ภาพวาดที่วาดมาจากบ้านของตัวยิป ยิว ชงเอง

    บ้าน

    และด้วยความเป็นย่านเก่าแก่ บ้านหลาย ๆ หลังในย่านนี้ จึงยังคงการตกแต่งแบบย้อนยุคไว้ครบถ้วน และถูกนักท่องเที่ยวผู้สนใจวัฒนธรรม แอบมองเข้าไปบ่อย ๆ

    ยิป ยิว ชงเอง เลยยกเอาบรรยากาศนั้นมาไว้ให้เห็นชัด ๆ บนกำแพงแทน และหากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าบนภาพหนังสือพิมพ์ในผลงานของเขา มีภาพของนายกสิงคโปร์ ลีเซียนลุง ที่กำลังโปรโมทแคมเปญ Speak Mandarin Campaign ในปี 1979

    แคมเปญที่ชวนชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน มาใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษากลางแทนภาษาถิ่น เพื่อทำให้การสื่อสารภายในประเทศ เป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น และอีกหนึ่งภาพก็คือ “มุมฟังเสียงนก” (Bird Singing Corner) ภาพที่เล่าอีกหนึ่งกิจกรรมฮิตของย่านเตียง บาห์รู (Tiong Bahru) ในอดีต 

    ที่เหล่าคุณลุงสมาคมคนรักนก เคยมารวมตัวกันพูดคุยเรื่องนก พร้อม ๆ กับจิบกาแฟ ซึ่งน่าเสียดายที่ในปัจจุบัน กิจกรรมนี้ได้หายไปเรียบร้อย เหลือไว้เพียงตะขอเกี่ยวกรงนก เป็นหลักฐานว่าเคยเกิดขึ้นจริง

    มุมฟังเสียงนก

    งานศิลป์ในย่านกัมปงเกอลัม ย่านที่ผสานความเป็น Pop Culture เข้ากับชุมชนยุคเก่าได้อย่างลงตัว 

    และสุดท้ายคือ ย่านกัมปงเกอลัม (Kampong Gelam) อีกหนึ่งย่านที่ฮิปที่สุดในสิงคโปร์ ย่านที่ผสมผสานความเป็น Pop Culture สมัยใหม่ เข้ากับชุมชนยุคเก่าได้อย่างลงตัว เต็มไปด้วยสตรีทอาร์ท ตึกหลากหลายสีสัน มัสยิดสีทองอร่าม 

    จะชอปปิงงานคราฟต์ หรือลิ้มลองอาหาร และสัมผัสวัฒนธรรมอันหลากหลาย ทั้งจีน มาเลเซีย และตะวันออกกลาง ก็มีให้อย่างครบถ้วน และมีหนึ่งผลงานที่บอกเล่าเรื่องราวน่าสนใจของย่านนี้ 

    คือภาพชุด “กัมปงเกอลัม” โดยในอดีตเมื่อปลายปี 1970 สิงคโปร์เคยเป็นท่าเรือสำคัญ ที่เป็นจุดแวะพักของเหล่าผู้แสวงบุญชาวมาเลย์ และอาหรับ ซึ่งออกเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์

    เรื่องราวของกาแฟ

    และบางส่วนก็อพยพมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ ผ้าบาติกจึงเป็นตัวแทนของชาวมาเลย์ ส่วนพรมเป็นตัวแทนของชาวอาหรับ และอีกภาพที่โดดเด่นไม่แพ้กัน คือ “เรื่องราวของกาแฟ” (Coffee Story) ที่เล่าเรื่องราววัฒนธรรมการชงกาแฟของ 3 วัฒนธรรม ทั้งชาวอินเดีย-มุสลิม ชาวจีนแบบดั้งเดิม และแบบตะวันตก

    โดยด้านซ้ายสุด เป็นเรื่องราวของร้านกาแฟแบบดั้งเดิมของชาวอินเดีย-มุสลิมกับเมนู kopi tarik ซึ่ง tarik แปลว่าดึงในภาษามาเลย์ ส่วนสาเหตุที่ใช้คำว่าดึง ก็เพราะกรรมวิธีการทำ คือการใช้กาแฟสองถ้วย ดึงกาแฟขึ้นสูง และเทลงมาในอีกถ้วยหนึ่งซ้ำไปมา 2 ครั้งนั่นเอง

    ถัดมาเป็นเรื่องราวของกาแฟโบราณแบบจีน ที่ชงด้วยถุงชงกาแฟ คล้าย ๆ กับกาแฟโบราณของไทย ที่เพิ่มเติมคือเมนู Kaya Toast และไข่ลวก อาหารเช้าประจำชาติสิงคโปร์นั่นเอง

    ก่อนปิดท้ายด้วยวัฒนธรรมการชงกาแฟแบบยุโรป ที่นำเมล็ดกาแฟมาคั่วและบด จากนั้นนำไปผ่านเครื่องชงกาแฟ เพื่อให้ได้กาแฟออกมา จากนั้นก็ตกแต่งด้วยการฟองนมเป็นลาเต้ อาร์ท (Latte Art) ออกมาเป็นกาแฟหน้าตาสวยงาม ที่เสิร์ฟในคาเฟ่สมัยใหม่ในปัจจุบัน

    ติดตามผลงานศิลปะบนกำแพง (Mural Art) ของศิลปินอื่น ๆ อีกมากมาย ในหลาย ๆ ย่านที่กระจายตัวอยู่ทั่วสิงคโปร์ มากกว่า 100 ชิ้น ได้ทาง visitsingapore