ช่วงนี้แดดร่มลมตก เหมาะกับการไปเที่ยวชมสถานที่ในกรุงเทพฯ เป็นที่สุด ซึ่ง One day Trip ครั้งนี้ เราได้ร่วมเดินทางไปกับ เค ที ซี ในกิจกรรม “ย้อนกาลเก่า เล่ารัตนโกสินทร์ ยินผ่านวรรณกรรม ช่วงรัชกาลที่ 4” โดยมีอาจารย์นัท – จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะวัฒนธรรม มาเล่าถึงความเป็นมาของสถานที่ที่มีสกุล “บุนนาค” อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นดั่งตัวละครสำคัญ ที่ช่วยเติมเต็มยุคประวัติศาสตร์ช่วงนั้นให้สมบูรณ์
ชมศิลปะไทยผสมจีนในวัดเก่า
“วัดพิชยญาติการาม” หรือ “วัดพิชัยญาติ” แห่งนี้โดดเด่นด้วยพระอุโบสถ ภายในประกอบด้วยภาพจิตรกรรมศิลปะไทย และศิลปะจีน รอบฐานด้านนอกตกแต่งด้วยหินแกรนิตสลักลายพงศาวดารจีน เรื่องสามก๊ก ซึ่งศิลปกรรม ประติมากรรม และการวางแบบแปลนของวัด ล้วนแล้วเป็นลักษณะเด่นที่รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดทั้งสิ้น
โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ขณะดำรงบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา” ได้ปรับปรุง สถาปนาขึ้นใหม่ทั้งหมด แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ 3 และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามให้เป็น “วัดพิชยญาติการาม”
สัมผัสบ้านจำลองของสมเด็จย่า กลางสวนสีเขียวสุดร่มรื่น
พื้นที่บริเวณนี้เดิมทีเป็นของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) ซึ่งต่อมาได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการอนุรักษ์ พัฒนาสถานที่ดังกล่าวให้เป็น อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยมีการปรับปรุงอาคารที่เคยเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เทิดพระเกียรติสมเด็จย่า และให้จำลองบ้าน ซึ่งเคยเป็นที่ประทับครั้งทรงพระเยาว์ของสมเด็จย่า ขนาดเท่าของจริง เพื่อแสดงถึงสภาพความเป็นอยู่ของบ้านช่างทอง พร้อมทั้งพัฒนาพื้นที่ที่เหลือให้เป็นสวนสาธารณะระดับชุมชน ที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์
เสพเสน่ห์ของบรรยากาศไทย – จีนที่ท่าเรือหวั่งหลี
เมื่อเดินทางมาถึงที่นี่ ก็ต้องสักการะศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ซึ่งเชื่อว่าเป็นเทพอุปถัมภ์ของคนเดินทะเลชาวแต้จิ๋ว และฮกเกี้ยน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และศูนย์รวมใจของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยต่อเนื่องมา 6 ชั่วอายุคน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน
ก่อนจะฟังเรื่องราวของ “โครงการล้ง 1919” สถานที่ท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตผู้คนในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งสะท้อนถึงความเฟื่องฟูด้านการค้ากับต่างประเทศทั้งซีกโลกตะวันออก และตะวันตกในช่วงรัชกาลที่ 4 ต่อมาการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทในการค้ากับต่างชาติมากขึ้น ท่าเรือแห่งนี้จึงค่อยๆ ลดบทบาทลง ตระกูลหวั่งหลี จึงเข้ารับช่วงเป็นเจ้าของต่อ และปรับปรุงเป็นอาคารสำนักงาน ที่อยู่พนักงาน และโกดังเก็บสินค้าการเกษตรของตระกูล
สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และให้อาหารเต่าในวัดรั้วเหล็ก
ไปต่อกันที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร สร้างขึ้นโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 มีรั้วเหล็กรูปหอก ดาบและขวานโบราณล้อมรอบเป็นกำแพง โดยสมเด็จเจ้าพระยาฯ สั่งเข้ามาจากประเทศอังกฤษ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 เพื่อใช้ล้อมกำแพงในพระบรมมหาราชวัง แต่พระองค์ไม่ทรงโปรด สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงขอพระราชทานมาล้อมเป็นกำแพงวัด ทำให้ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “วัดรั้วเหล็ก”
นอกจากนั้นยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อาทิ “พระอุโบสถ” รูปแบบผสมผสานระหว่างพระราชนิยม และประเพณีนิยม “พระบรมธาตุมหาเจดีย์” พระเจดีย์องค์ใหญ่ทรงระฆัง “พระพุทธนาค และพระวิหาร” ที่เป็นความงามทางพุทธศิลป์ จากสุโขทัยสู่รัตนโกสินทร์ “เขามอ (เขาเต่า)” ภูเขาจำลอง สร้างจากหยดเทียนขี้ผึ้ง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปปางไสยาสน์ “ประยูรภัณฑาคาร” หรือ “พรินทร์ปริยัตติธรรมศาลา” พิพิธภัณฑ์ความรู้ในพุทธศึกษา และพุทธศิลป์ ซึ่งแต่ละสถาปัตยกรรมก็ทำหน้าที่สืบสานมรดก วัฒนธรรม ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบัน จน UNESCO ได้มอบรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ให้เป็นเครื่องการันตี