Saturday, September 23, 2023
More

    เผย 4 นวัตกรรมกำจัดขยะล้นเมืองแห่งโลกอนาคต

    ไทยกำลังประสบปัญหาขยะพลาสติกที่มีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมควบคุมมลพิษเผยว่า ขยะพลาสติกในไทยมีประมาณปีละมากกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็น 12% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ถึงแม้ว่าบางส่วนจะถูกกำจัดหรือนำกลับไปใช้ประโยชน์ แต่ก็มีอีกราว 1 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล

    ด้วยเหตุนี้ทำให้ภาครัฐได้ออกมาตรการลดและยกเลิกการใช้พลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อลดปริมาณขยะภายในประเทศ โดยจะมีมาตรการที่เห็นเด่นชัดคือ งดแจกถุงพลาสติก ซึ่งนับว่ามีการใช้ในปริมาณมาก เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับวิถีการดำเนินชีวิต โดยได้เริ่มดำเนินการอย่างเข้มงวดแล้วในเดือนมกราคม 2563


    นอกจากนี้ ยังมีขยะพลาสติก ประเภทอื่นๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นแหล่งพื้นที่ที่มีการใช้ขยะพลาสติกมากที่สุด แม้จะมีการรีไซเคิลไปบางส่วนก็ยังมีขยะพลาสติกอีกประมาณกว่า 50% ที่ยังไม่ได้รับการบริหารจัดการ

    ล่าสุด สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ Phoenixict Co., Ltd. – Sinwattana Crowdfunding จัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการออกแบบโครงการด้านการบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อดึงดูดผู้ที่มีแนวคิดและไอเดียการออกแบบนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้มีโอกาสนำเสนอเทคโนโลยีที่มีความเป็นไปได้เพื่อรับสนับสนุนเงินทุน และนำโครงการไปต่อยอดเพื่อสังคมได้ในอนาคต

    สำหรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะพลาสติกที่จำเป็นต้องนำมาใช้ และจะมีบทบาทในโลกอนาคตมี 4 เรื่อง ได้แก่

    1. นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง (Upcycling) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรีไซเคิล แก้ปัญหาพลาสติกเหลือทิ้งที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยเป็นการนำขยะมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้เป็นสิ่งใหม่ สามารถนำมาใช้ได้ในรูปแบบใหม่ๆ โดยไม่สร้างขยะกลับคืนสู่วงจรขยะพลาสติกอีกครั้ง เช่น การนำมาทำเป็นวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์สำนักงาน สินค้าไลฟ์สไตล์ เป็นต้น

    2. พลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Bioplastic) สามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์และแบคทีเรียตามธรรมชาติโดยสามารถผลิตจากวัตถุดิบที่สามารถผลิตทดแทนขึ้นใหม่ได้ในธรรมชาติ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ มีคุณสมบัติในการใช้งานใกล้เคียงพลาสติกจากปิโตรเคมีแบบดั้งเดิม และพลาสติกชีวภาพแบบย่อยสลายได้จะกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ 100% ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับการใช้งานเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

    3. นวัตกรรมเพื่อการจัดการไมโครพลาสติก  โดยไมโครพลาสติกถือเป็นพลาสติกขนาดเล็กและมองไม่เห็น ซึ่งมักจะปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ทะเล และกลายเป็นอาหารสัตว์ตามที่ปรากฏในข่าวสาร ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยผู้ประกอบการและต้นทางในอุตสาหกรรมควรใส่ใจอย่างจริงจัง ด้วยการหาวัสดุทดแทนหรือมีกระบวนการจัดการที่รัดกุม เพื่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่ดีขึ้นทั้งระบบ

    4. การเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นพลังงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจ โดยสามารถนำขยะพลาสติกที่มีอยู่จำนวนมหาศาลมาแปรรูปให้เป็นพลังงานความร้อน พลังงานไฟฟ้า ฯลฯ และการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบนี้ยังจะช่วยลดต้นทุนในกิจกรรมดังกล่าว พร้อมสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย

    ทั้งนี้ นวัตกรรมด้านการจัดการขยะพลาสติกที่เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น นวัตกรรมการบริหารจัดการขยะชุมชนเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างจากเศษขยะพลาสติกชุมชน, นวัตกรรมเครื่องอัดขยะในครัวเรือน, แอปพลิเคชัน Recycle Day เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลในการคัดแยกขยะ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงกลุ่มผู้รับซื้อของเก่ากับกลุ่มผู้ที่ต้องการขายของเหลือใช้ที่จะช่วยให้สะดวกสบายมากขึ้น และนวัตกรรมเครื่องผลิตเชื้อเพลิงสำหรับเผาศพจากขยะพลาสติกชุมชน

    โดยในปี 2563 NIA เตรียมเปิดรับข้อเสนอโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ต้องเป็นโครงการที่สามารถผลักดันไปสู่การใช้งานจริง เพื่อแก้ไขปัญหาในสังคมเมืองและชุมชน ภายใต้ข้อเสนอแนวคิดการพัฒนาในหลากหลายมิติ เฟ้นหานวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติก 5 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมการจัดเก็บขยะพลาสติก นวัตกรรมการคัดแยกขยะพลาสติก นวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติก นวัตกรรมการกำจัดขยะพลาสติก และการสร้างความมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะพลาสติก

    จากนั้นจะมีการตัดสินแนวคิดที่ดีและมีโอกาสในการขยายผล ซึ่งองค์กรที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุนเพื่อนำไปดำเนินการจริงในพื้นที่ ตามหลักเกณฑ์ที่ สนช. กำหนด ภายในระยะเวลา 12 เดือนของการดำเนินงานจะได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะในการขยายผลแนวคิด เทคโนโลยี โอกาสทางสังคมและธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 3-28 กุมภาพันธ์ 2563 ติดตาม  รายละเอียดเพิ่มได้ที่ www.nia.or.th


    THE MAINSTAY

    คุณคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม NIA

    “ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องให้ความใส่ใจ สร้างปัญหาให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายฝ่ายหลายประเทศทั่วโลกมีความพยายามผลักดันการลดและเลิกใช้วัสดุที่ผลิตมาจากพลาสติก โดยเฉพาะสินค้าประเภทถุงบรรจุ ซึ่งมีการใช้ในปริมาณมากเนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับวิถีการดำเนินชีวิต”