หากพูดถึงเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เรามักนึกถึงเมืองแห่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้มีความน่าอยู่มากขึ้น มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริการสาธารณะที่เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ช่วยลดผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
แต่นอกเหนือจากนั้น คือการ ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความรู้เพิ่มขึ้นและมีความสุขในการชีวิต ซึ่งเป็นแนวคิด ในการพัฒนาพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นย่านแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สิน และนวัตกรรม กำกับดูแลสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาระบบขนส่งในพื้นที่ให้มีความหลากหลาย สะดวกสบาย สามารถเชื่อมต่อการเดินทางของผู้อยู่อาศัยได้อย่างครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ต (IoT – Internet of Things) และระบบการสัญจรหลาย รูปแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยพลังงานสะอาด โดยมีตัวเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย ซึ่งในปี 2560 ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 7 ต้นแบบเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของไทย
โดยหนึ่งในการแกนหลักพัฒนาพื้นที่เมืองคือ การสร้างระบบขนส่งให้มีความยืดหยุ่น แก้ปัญหาการเดินทางในระยะต่อแรก (First Mile) และต่อสุดท้าย (Last Mile) ซึ่งจุฬาฯ มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองแห่งการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ผ่าน 6 แนวคิด ดังนี้
1. CU POP BUS รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV Bus) ให้บริการจำนวน 5 เส้นทาง โดยสามารถเรียกดูเส้นทางเดินรถ และตำแหน่งของรถโดยสารได้จาก Application “CU Popbus” ที่ให้บริการฟรีตลอดทั้งวัน
2. Bike Sharing โครงการแบ่งปันรถจักรยานกันใช้ แบบไม่ต้องมีช่องจอด (Dock less) ซึ่งผู้ใช้สามารถปลดล็อกรถผ่าน Application “coBike” และสามารถปั่นไปจอดที่ใดก็ได้ในพื้นที่จุฬาฯ
3. Car Sharing โครงการแบ่งปันรถยนต์กันใช้ ซึ่งได้ร่วมมือกับ Toyota ในการนำเสนอรถ Ha:mo รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Car) พร้อมจุดจอดและสถานีอัดประจุ (EV Charging Station) ใช้งานผ่าน Application “CU TOYOTA Ha:mo” และ HAUP CAR : Car Sharing ให้บริการเช่ารถยนต์แบบรายชั่วโมง ผ่าน Application รถยนต์แชร์ริ่ง ที่ใครๆ ก็สามารถใช้รถยนต์ได้ เพิ่มความสะดวกสบายง่ายๆบริการตัวเองผ่านแอปพลิเคชั่น มีจุดจอดบริการในพื้นที่
4. Tuk Tuk Sharing รถสามล้อไฟฟ้าแบบแบ่งปันกันใช้พร้อมคนขับ ที่จะมารับ-ส่งตามจุดขึ้น-ลง โดยใช้งานผ่าน Application “MuvMi” ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 700 Passenger trips/day แล้ว โดยหลังจากเปิดให้บริการมากว่า 1 ปี มีจำนวนผู้ใช้บริการตลอดปี 2562 เกือบ 200,000 Passenger trips/year
5. E Scooter Sharing รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแบบแบ่งปันกันใช้งานผ่าน Application “Leaf” โดยสามารถปลดล็อกและใช้งานได้ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีจุดจอดกระจายอยู่ทั้งมหาวิทยาลัย ปัจจุบันอยู่ในช่วงทดลองและเตรียมขยายพื้นที่ให้บริการไปจุฬาฯฝั่งตะวันออกและสยามสแควร์
6. Car Pool การเดินทางที่เดียวกันไปด้วยกัน โดยใช้งานใน “Chula Sharing” ผ่าน Application “Liluna” โดยเริ่มเปิดและประชา- สัมพันธ์ให้นิสิตและบุคลากรทดลองใช้งานแล้ว
นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังมุ่งหน้าสู่การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นย่านแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยมีแนวคิดในการพัฒนา Smart Energy การบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ, Smart Living การรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ และ Smart Environment การจัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะอีกด้วย