สมาร์ทซิตี้ (Smart City) หรือเมืองอัจฉริยะ เป็นเรื่องที่หลายประเทศกำลังให้ความสนใจ โดยรูปแบบคือการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิและคุณภาพชุมชน เช่นเดียวกับที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ให้หลายหน่วยงานเข้ามาศึกษาแนวคิด BLT จึงชวนคุยกับ รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สิน และนวัตกรรม ผู้ขับเคลื่อนจุฬาฯ สู่เมืองอัจฉริยะแห่งความยั่งยืน
พื้นที่จุฬาฯ มีที่มาอย่างไร
เมื่อปี พ.ศ. 2453 รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานพื้นที่รวม 1,153 ไร่ เพื่อก่อตั้งสถาบันการศึกษา โดยให้ใช้ที่ดินส่วนหนึ่งเพื่อปลูกสร้างสถานศึกษา และอีกส่วนหนึ่งให้ใช้จัดหาผลประโยชน์เพื่อนํามาปรับปรุงการศึกษา สำหรับส่วนที่ PMCU ดูแลอยู่มี 291 ไร่ คิดเป็น 32% โดยเมื่อ 3-4 ปีก่อน เราคิดกันว่า ควรหาอัตลักษณ์ให้กับเมืองเล็กๆ ตรงนี้ นำวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยออกไปสู่ข้างนอกให้ได้ นำไปสู่ 3 L คือ 1. Learn สร้างคุณค่าเพิ่มให้สังคม ทำให้คนฉลาดขึ้น, 2. Live ทำให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และ 3. Life ทำให้เมืองน่าอยู่ไม่น่าเบื่อ
คำจัดความ “สมาร์ทซิตี้” ของจุฬาฯ
สมาร์ทซิตี้ของเรา ไม่ใช่เพียงนำเทคโนโลยีมาใช้ คนอาจมองว่า สมาร์ทซิตี้ต้องเป็นเมืองไฮเทค แต่ที่นี่ไม่ใช่แค่นั้น คนอยู่แล้วต้องมีความสุขและมีความรู้ด้วย เสมือนเมืองในฝัน แต่เราทำฝันนั้นให้เป็นจริงได้ ซึ่งในจุฬาฯ มีคนหลากหลายเจเนเรชัน ทั้งคนเดินทางเข้าออก รวมถึงคนในชุมชน ทำให้ความต้องการของแต่ละคนหลากหลาย ดังนั้นเราจึงต้องทำพื้นที่ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยให้ได้
แนวคิดการพัฒนาพื้นที่สู่เมืองอัจฉริยะ
เราต้องการพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นย่านนวัตกรรมสร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม โดยมีแนวคิดในการพัฒนา 4 ด้าน คือ Smart Mobility การสัญจรอัจฉริยะ, Smart Energy การบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ, Smart Living การรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ และ Smart Environment การจัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ
อยากให้อาจารย์เล่าถึงแต่ละแนวคิดให้ฟัง
ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ คอนเซ็ปต์คือทุกอาคารต้องมีพื้นที่สีเขียวซ่อนอยู่ ซึ่งเราได้สร้างสวนสาธารณะ อุทยาน 100 ปี พื้นที่ 29 ไร่ ให้ประชาชนมาใช้บริการ นอกจากนี้ยังมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศ การบำบัดน้ำ รวมถึงการลดใช้ขยะ โดยได้รับความร่วมมือจากร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่มหาวิทยาลัย
ด้านการสัญจรอัจฉริยะ เรามีตัวเลือกการเดินทาง เพื่อเอื้อให้ประชาชนลดใช้รถยนต์ส่วนตัว อย่างรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า, จักรยานแบ่งกันใช้, รถยนต์แบ่งกันใช้, รถสามล้อไฟฟ้าพร้อมคนขับ, สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า, รถเช่า และ Car Pool โดยทุกรูปแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยพลังงานสะอาด
ด้านพลังงานอัจฉริยะ เพื่อการผลิต การจัดเก็บ และการส่งจ่ายพลังงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงานไฟฟ้า
และด้านการรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ เช่น Smart CCTV กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ, ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศ (ICT) ลงใต้ดิน, ระบบนำทางความแม่นยำสูง รวมถึง Smart Delivery การจัดส่งอาหารอัจฉริยะ ซึ่งได้ร่วมมือกับ Application “QueQ” เพื่อรองรับการสั่งอาหารภายในพื้นที่
โดยส่วนตัวอาจารย์ใช้ Smart Mobility บ้างไหม
แน่นอนครับ อย่างเวลาผมไปประชุมก็จะใช้บริการตุ๊กตุ๊กผ่าน Application “MuvMi” สะดวกสบายมีคนขับให้ หรือถ้าไม่ไกลผมก็ใช้วิธีเดิน เพราะในพื้นที่จุฬาฯ มีทางเดินเท้าที่ดีและมีต้นไม้ร่มรื่น
อุปสรรคที่ต้องก้าวข้าม
สิ่งที่ทำให้ดำเนินการล่าช้า คือสิ่งที่เราไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้ ต้องร่วมมือกับอีกหลายฝ่าย อย่างเรื่องการจราจร เราเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ ถนนทาเส้นขาว-แดง ห้ามจอด แต่ก็ยังมีคนนำรถเข้ามาจอด ตรงนี้เป็นหน้าที่ของตำรวจ รวมไปถึงการขายของบนทางเท้า ถ้าไม่มีเทศกิจมาดูคนก็ยังเอาของมาขาย อำนาจไม่ได้อยู่กับเรา จึงเป็นเรื่องของระบบและกฎระเบียบต่างๆ ที่ควรแก้ไข
ย่านไหนในกรุงเทพฯ ที่สามารถพัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้ได้
ผมว่าขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ว่าเหมาะสมที่จะพัฒนาด้านใด เพราะแต่ละชุมชนมีความต้องการไม่เหมือนกัน อย่างจุฬาฯ การเดินทาง Last Mile มี 6-7 ทางเลือก บางพื้นที่ก็ไม่เหมาะกับการปั่นจักรยาน หรือบางพื้นที่อาจจะเหมาะกับการใช้ตุ๊กตุ๊ก เพราะพื้นที่ถนนไม่พอ แต่ที่จุฬาฯ เราทำทุกโมเดลเพื่อให้เห็นภาพว่าเป็นอย่างไร เป็นทางเลือกว่าจะนำโมเดลใดไปใช้ให้เหมาะสมกับย่านนั้นๆ