Sunday, June 11, 2023
More
    spot_imgspot_imgspot_imgspot_img

    “คนขึ้นมะพร้าว” อาชีพดั้งเดิมของชาวสวน ที่ (อาจ) เหลือหนึ่งเดียวใน กทม.

    เมื่อเราก้าวเข้าสู่อาณาจักรสวนเขียวครึ้มอายุร้อยปีย่านคลองบางประทุน บุรุษหุ่นกำยำราวกับนักรบโบราณก็ควบเรือยนต์ที่แผดคำรามมาเทียบตรงศาลา ‘เป็ด-มนตรี ดาวเรือง’ คนขึ้นมะพร้าวหนุ่มที่มีชื่อเสียงลือลั่นทั่วย่านบางแค ถึงฝีมือในการปีนป่ายเก็บมะพร้าวด้วยมือเปล่าชนิดหาตัวจับยาก ซึ่งว่ากันว่าเขาอาจจะเป็นคนปีนมะพร้าวคนท้ายๆ ที่ยังคงทำอาชีพนี้อยู่ แค่อึดใจเดียว บุคคลที่เรารอพบก็ขึ้นจากเรือมาพร้อมกับใบหน้าเปื้อนยิ้ม ก่อนจะเดินปรี่เข้าสวน เห็นอีกทีก็อยู่บนยอดต้นมะพร้าวแล้ว

    ปีนป่ายครั้งแรก

    ย่านคลองบางประทุน ในอดีตเป็นแหล่งเลื่องชื่อในเรื่องมะพร้าว ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ที่มีลักษณะลักจืดลักเค็ม ทำให้มะพร้าวมีความหวานมัน เนื้อแน่น จึงมักจะมีคนล่องเรือโยงจากสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ผ่านคลองภาษีเจริญมาเพื่อซื้อมะพร้าว หรือหากว่าเป็นคนสนิทชิดเชื้อกันมาเยี่ยมเยือน คนทะเลก็จะเอากุ้ง เอาหมึก คนบกก็จะเอาปลาร้า เอาข้าวมาแลกเปลี่ยนกับมะพร้าวกัน


    ในอดีตละแวกดังกล่าวจะมีคนขึ้นมะพร้าวประจำการอยู่ตำบลละคน แต่กาลเวลาผ่านมาคนเก่าคนแก่ก็โรยแรงลงเรื่อยๆ พี่เป็ดเล่าให้ฟังว่า คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเขาก็รับจ้างขึ้นต้นมะพร้าว แต่ละครั้งก็ไปกันที 7-8 คน ได้ค่าจ้างต้นละ 1-2 บาท แต่ละครั้งก็มีค่าขนมให้ลูก 60-70 บาท 

    ประมาณสัก 10 ขวบ พี่เป็ดก็เริ่มขึ้นมะพร้าวได้ พอเก็บเอาน้ำมาชิมเอาเนื้อมากินตามประสาวัยซน ซึ่งสิ่งนี้ติดตัวมาราวกับผ่านทางสายเลือด โดยไม่มีใครมาสอน อาศัยครูพักลักจำจากผู้ใหญ่ทำ

    “เมื่อก่อนขึ้นเท้าเปล่า แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน บางคนเดินขึ้นเท้าเปล่าเลย ไม่ใส่ปลอกขา แต่รุ่นนั้นก็หมดแล้ว จนมาถึงรุ่นผมใส่ปลอกกัน เพราะมันยืนสบาย ไม่ต้องเกร็งมาก ได้พักในตัว อายุการขึ้นยืนต้นได้นาน เช่นว่าเราจะขึ้น 20-30 ต้น เรายืนอายุได้ แต่ถ้าขึ้นเท้าเปล่าอาจจะได้แค่ 7-8 ต้น ยืนระยะต้นได้ไม่นาน”

    จากประสบการณ์ในสวนมะพร้าวของชายวัย 45 ปีผู้นี้ เขาเล่าว่าเท่าที่เห็นก็มีย่านนี้ที่นิยมใช้คนขึ้นมะพร้าว หากใครขึ้นไม่เป็น ถ้าเป็นต้นเตี้ยก็จะใช้ไม้สอย แต่ถ้าสูงชะลูดก็คงไม่ไหว ส่วนทางแม่กลองก็ใช้ไม้สอยแล้วดันมะพร้าวลงร่องสวน ทางใต้จะใช้บริการลิงเก็บ

    “ลิงจะใช้มือบิดทีละลูก เก็บมะพร้าวแก่เอาไปทำกะทิ ถ้ามะพร้าวอ่อนใช้ลิงไม่ได้ อย่างผมขึ้นเอามีดตะขอตัดที ได้ครั้งละ 10 กว่าลูก ใช้เวลาน้อยกว่า ลูกก็สวยกว่า เพราะต้องเอาเชือกไปผูกแล้วค่อยๆ ชักลงมา อีกอย่างลิงเขาก็จะมีเชือกอันหนึ่งค่อยกระตุกบอกลูกไหนใช่ ไม่ใช่ ลิงจะรู้ได้ไงว่าอันไหนอ่อน อันไหนแก่ แต่เราดีดก็รู้ว่าอันไหนมีเนื้อไม่มีเนื้อ ถ้าเนื้ออ่อนก็จะเสียงแป๊ะๆ แล้วเห็นผิวพรรณรูปทรงลูกก็รู้เพราะขึ้นอยู่ประจำ อีกอย่างเวลาขึ้นก็จะชนงวดของมัน เพราะขึ้นแต่ละครั้งก็เก็บได้ต้นละทะลาย” พี่เป็ดอธิบายถึงความแตกต่างของการเก็บมะพร้าวด้วยวิธีการต่างกัน

    เล่นของสูง

    หลังจากใช้ชีวิตเที่ยวเตร่เสเพลในช่วงวัยรุ่น ขับรถเช่าอยู่แถวเอกมัย-ทองหล่อ ไปทำงานบริษัท กระทั่งเดินสายเตะฟุตบอลหากิน ถึงปี 2537-2538 พี่เป็ดก็มาเช่าสวนเพื่อตั้งหลักทำมาหากิน พออยู่สวนทุกวันก็เบื่อๆ จนมีคนชวนไปขึ้นมะพร้าว เลยตกปากรับคำ ด้วยเพราะอยากเปิดหูเปิดตาออกไปดูว่าคนอื่นทำมาหากินอย่างไรกัน กระทั่งพอปลายปี 2553 ก็เริ่มเอาจริงเอาจังกับการรับจ้างขึ้นมะพร้าว และกลายเป็นพ่อค้าขึ้นมะพร้าวถึงทุกวันนี้

    “เมื่อก่อนก็จะไปเป็นทีมกัน 7-8 คน เดินสายไปขึ้นที 200-300 ต้น ตกคนละ 50 ต้น ไปทีหลายคนก็สนุก” พี่เป็ดเล่าถึงบรรยากาศ “ค่าจ้างมาถึงรุ่นเราต่อต้นก็เพิ่มเป็น 10 เท่า จากต้นละ 3 บาทก็เป็น 30 บาท แต่เพิ่งจะมาได้เร็วๆ นี้เอง ถ้าจ้างเราโกรก (เอาเชือกไปผูกทะลายมะพร้าวแล้วชักลงมา) ด้วย ก็อีกราคา จากต้นละ 4 บาท ก็เป็น 10 บาท”

    ทุกวันนี้พี่เป็ดจำต้องฉายเดี่ยวในการขึ้นมะพร้าว หากจะมีก็แค่ลูกมือสักคนคอยยกคอยขนช่วย เพราะพรรคพวกส่วนใหญ่ก็วางมือไปกันจะหมดแล้ว ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีออเดอร์เข้ามาไม่ขาดสาย หากเป็นมะพร้าวแก่จะเอาไปทำกะทิ ส่วนมะพร้าวน้ำหอมก็นำไปรับประทานหรือทำขนม 

    “เราทำมากก็ได้มาก ทำน้อยก็ได้น้อย มีมะพร้าวเราก็ขึ้น เขาจ้างเราก็ขึ้น เฉลี่ยแล้ววันหนึ่งหาสบายๆ ก็ประมาณ 300 ลูก ขึ้นต้นหนึ่งเก็บได้ประมาณ 10 ลูก 1 ชั่วโมงจะเก็บได้ 80-100 ลูก บางทีมีออเดอร์สั่งมา 2,000 ลูก ถ้าทั้งขึ้นทั้งขนก็ใช้เวลาเป็นอาทิตย์” 

    ปัจจุบันพี่เป็ดมีรายได้จากการขึ้นมะพร้าวเฉลี่ยเดือนละประมาณ 10,000-20,000 บาท 

    เมื่อถามว่าการขึ้นมะพร้าวมีความเสี่ยงอะไร แม้ว่าพี่เป็ดจะไม่เคยตกต้นมะพร้าว แต่บางทีกลับบ้านก็มีรอยช้ำแดง เพราะตามขอบต้นมะพร้าวจะมีเหลี่ยมคม เป็นตะปุ่มตะป่ำ ทำให้จับแล้วรู้สึกเจ็บ ยิ่งเป็นฤดูหนาวผิวแห้งก็ทำให้มือไม้แตกเป็นแผลจนเห็นเนื้อแดงได้

    “เราก็ต้องทนเจ็บ ด้วยความที่อยากได้มะพร้าวไปขาย ลูกค้าสั่งมาก็ต้องทำส่งให้เขา บางทีฝนตกต้นมะพร้าวลื่นก็ต้องขึ้น มีความเสี่ยงเรื่องสายไฟฟ้าบ้าง ก็ต้องระมัดระวังตัว เพราะเราไม่มีเซฟตี้อะไร ถ้าเกิดปลอกขาขาดหรือว่าหลุดมือขึ้นมา ก็ไม่มีเข็มขัดเซฟตี้ หรือบางทีก็เจอต่อเจอแตน ลงต้นมะพร้าวยังตามมาเลย”

    สำหรับคุณสมบัติของคนที่คิดอยากจะเป็นพ่อค้าขึ้นมะพร้าว พี่เป็ดอธิบายว่าต้องขึ้นมะพร้าวให้เป็น เพราะว่าถ้าขึ้นไม่ได้ ก็ต้องไปซื้อ ต้องควักทุนซื้อ ทำให้ต้นทุนสูง และที่สำคัญคือต้องใจรัก ไม่ว่างานอะไรก็แล้วแต่ เราทำแล้วไม่สนุกไปกับงาน ทำแล้วเซ็งและขี้เกียจ ก็คงไม่อยากจะทำงานนั้น

    อาชีพที่นับวันจะหายไปตามกาล

    ปัจจุบันน้อยคนนักจะรู้ว่าย่านนี้ยังคงหลงเหลือสวนมะพร้าวอยู่ ถึงอย่างนั้นก็มีเพียงไม่กี่สวนที่ยังคงเปิดดำเนินการ ส่วนใหญ่ก็ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้าง สายตาของพี่เป็ดเองมองว่า มะพร้าวในย่านนี้กำลังเหลือน้อยลงและเริ่มหมดไป เพราะว่าสมัยนี้คนทำสวนไม่ค่อยมีแล้ว ประกอบกับพื้นที่สวนก็มักจะเป็นพื้นที่ตาบอด จึงมักจะขายไปกันหมด สวนผลไม้ดั้งเดิมจึงเริ่มหมดไป ถูกเปลี่ยนเป็นคอนโดฯ เป็นหมู่บ้าน 

    สำหรับคนขึ้นมะพร้าว แม้ว่าในย่านนี้จะพอมีอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เริ่มจะขึ้นไม่ไหวแล้ว หรือไม่ก็ไปเอาดีกับงานอย่างอื่นแทน ซึ่งใครที่ห่างจากการขึ้นต้นมะพร้าวไปเพียง 1-2 เดือน ก็มีอันให้ขึ้นไม่ไหวแล้ว อย่างพี่เป็ดจะเว้นแค่ 2-3 วัน แล้วก็จะขึ้นเก็บทีหนึ่ง 

    “พี่ป้อมที่อยู่คลองราชมนตรีก็ขึ้นไม่ไหวแล้ว จะมีก็พี่ชื่น พี่ชายของผมที่ขึ้นคู่กันก็ยังรับจ้างขึ้นมะพร้าวทั่วไปอยู่ ผมก็ไม่รู้ว่าจะแขวนนวมเมื่อไร เพราะอายุมากขึ้น ร่างกายก็อาจจะทำไม่ไหว”

    หากเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้า อายุประมาณ 50 ปีก็วางมือเลิกขึ้นมะพร้าวกันแล้ว แต่เขาคิดว่าน่าจะเกิน เพราะว่าอีก 5 ปีเอง “เราก็ยังไม่รู้ว่าจะเจ็บไข้ได้ป่วยมั้ย อย่าว่าแต่ 5 ปีเลย พรุ่งนี้เรายังไม่รู้เลย ถ้าถามตอนนี้ก็ต้องตอบว่าตลอดไป จนกว่าเราจะขึ้นไม่ไหว

    หมดรุ่นผมคงไม่มีแล้ว เด็กรุ่นหลังก็ไม่เอา เราก็หาตัวอยู่เหมือนกัน เพื่อมาฝึกฝนให้ขึ้นมะพร้าวได้ แต่ป่านนี้แล้วก็ยังหาไม่ได้ เพราะว่าเด็กอาจจะไม่อดทนเหมือนอย่างเรา แล้วเขาก็มีทางเลือก ไปทำงานอย่างอื่นดีกว่ามาขึ้นมะพร้าว”

    ถึงแม้จะไม่มีใครมาสานต่อในเรื่องภูมิปัญญาอาชีพคนขึ้นมะพร้าว พี่เป็ดเองก็ทำใจยอมรับ ด้วยความเข้าใจในโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไป และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง หากเรี่ยวแรงไม่พอขึ้นมะพร้าวหรือไม่มีใครว่าจ้าง คงต้องหันไปเป็นชาวสวนกล้วยหอมแบบเต็มเวลา และเก็บอาชีพคนขึ้นมะพร้าวไว้ในความทรงจำ