Tuesday, December 6, 2022
More

    Portrait of Songkhla โปรเจกต์บันทึกภาพจำก่อนการเปลี่ยนผ่านของย่านเมืองเก่าสงขลา

    ชวนสัมผัสถึงเรื่องราวแห่งการเปลี่ยนผ่าน และการบันทึกความทรงจำของชีวิตชาวย่านเมืองเก่าสงขลา กับเอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล ผู้ผลักดันจนเกิดเป็นโปรเจกต์ Portrait of Songkhla ซึ่งเชื่อว่าเสน่ห์ของเมืองเก่าแห่งนี้ อยู่ที่ผู้คนโดยแท้จริง

    จุดตั้งต้น Portrait of Songkhla การบันทึกชีวิตและประวัติศาสตร์ของย่านเมืองเก่าสงขลา

    ภาพรวมโปรเจกต์ Portrait of Songkhla ตามชื่อมันเหมือนเป็นซีรีส์ต่อจากโปรเจกต์ Portrait of Charoenkrung ซึ่งทีมที่ทำโปรเจกต์เจริญกรุงก็คือโรงเรียนสังเคราะห์แสงซึ่งเป็นคนทำโปรเจกต์นี้ใน Bangkok Design Week 2020 ที่ทำร่วมกับ Creative Economy Agency (CEA) แล้วผมก็ได้ขึ้นไปดูงานนี้ด้วย แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดว่างานนี้จะต่อยอดมาเป็น Portrait of Songkhla แต่ก็คิดว่าถ้ามีโอกาสเราก็อยากทำเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวของชาวสงขลา แบบครอบครัวเจริญกรุงบ้าง 


    จริง ๆ แล้วโดยส่วนตัว a.e.y.space ก็ทำเรื่องราวของย่านเมืองเก่าสงขลาเป็นปกติอยู่แล้ว เราก็ทำมาค่อนข้างจะหลากหลายเหมือนกัน แต่ว่าเป็นสเกลเล็ก ๆ นะครับ เพราะว่าใช้ทุนตัวเองในการทำ บางทีก็ 2 ปี ต่อเรื่อง แล้วแต่โอกาสจะอำนวยว่าเรามีข้อมูลด้านไหนที่เราสนใจ หรือมีพาร์ทเนอร์ที่มีเรื่องราวน่าทำด้วยก็ไปทำกับเขา เพราะหลัก ๆ a.e.y.space ก็สนใจเรื่องราวของชุมชนท้องถิ่นอยู่แล้ว ฉะนั้นเราจะมีพาร์ทเนอร์ที่ค่อนข้างจะมีข้อมูลเชิงลึก คือหอจดหมายเหตุโรงเรียนมหาวชิราวุธ ก็จะได้ข้อมูลต่าง ๆ จากตรงนั้น ทั้งรูปถ่าย และเรื่องราวเกี่ยวกับสงขลา 

    หลังจากนั้นก็ได้มีงานอย่าง Pictures of Songkhla ที่เป็นการขอรูปถ่ายโบราณจากบ้านคนในย่านเมืองเก่าให้ออกมาเป็นดิสเพลย์ และก็เล่าเรื่องราวของครอบครัวตัวเอง ซึ่งงานนี้มันก็ทำให้เราได้รับรูปเก่า ๆ ที่เผยแพร่ออกมาจากบ้านคนค่อนข้างจะเยอะ ซึ่งรูปถ่ายย่านเมืองเก่าที่เราเห็น ส่วนใหญ่มันมาจากหอจดหมายเหตุ มันจะไม่ค่อยมีดีเทลเหมือนเวลาผู้คนในย่านเมืองเก่าถ่ายรูปเมืองตัวเอง 

    เพราะฉะนั้นพอเราทำเรื่องราวแบบนั้นในเมือง มันทำให้เราสามารถได้มุมมองใหม่ ๆ ของคนสงขลาเองค่อนข้างจะเยอะ หลังจากนั้นเราก็รู้สึกว่าเวลาคนบ้านเราเข้ามามีส่วนในการเล่าเรื่องราวของตัวเอง จริง ๆ มันลึกซึ้งกว่าหลักฐานที่เราได้จากหอจดหมายเหตุ หรือข้อมูลที่เราเห็นตามหนังสือ ก็เลยทำต่อมาเรื่อย ๆ ซึ่งจะมีอยู่งานหนึ่งที่ทาง a.e.y.space ทำแล้วชอบมาก คืองานรูปถ่ายของคนสงขลา เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว เป็นการพูดถึงเรื่องของร้านถ่ายรูปในสงขลาตั้งแต่ยุคต่าง ๆ ที่ผ่านมา ว่าแต่ละยุคสมัย มีเทคนิคในการถ่ายรูปไม่เหมือนกันอย่างไร แล้วแต่ละรูปถ่ายมันก็จะมีการบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละยุคสมัยได้ ก็รู้สึกประทับใจ 

    ต่อมาเราก็อยากทำเรื่องราวของชาวสงขลาในปี 2563 บ้าง แต่ก็ได้แค่คิด เพราะว่ามันไปติดโควิด-19 แต่พอดีมีช่วงประมาณเดือนเมษายนได้รับการติดต่อจาก CEA โทรมาหาผมถามว่ารู้จักโปรเจกต์ Portrait of Charoenkrung หรือเปล่า คือทางเขาอยากจะทำโปรเจกต์เกี่ยวกับย่านเมืองเก่าสงขลา เพราะทางองค์กรเองกำลังมาจะมาเปิด CEA ในสงขลาอีกไม่นาน โดยตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงของการประกวดแบบอาคารอยู่ 

    ก็เลยอยากทำกิจกรรมนี้ขึ้นมา เหมือนเป็นการเริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นไปของย่านเมืองเก่าสงขลา และในขณะเดียวกันชาวสงขลาเองก็จะได้เรียนรู้ในเรื่องของ CEA เหมือนกัน ผมคิดว่าเขาคงจะมองในเรื่องของการอยากให้องค์กรได้เริ่มเข้ามาเป็นที่รู้จักของชาวสงขลาด้วย เพราะจริง ๆ ระหว่างชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นนักสร้างสรรค์ ที่เป็นชาวสงขลาปกติ กว่าเขาจะรู้จักว่า CEA คืออะไร มีประโยชน์อะไรกับเขา มันอาจจะต้องใช้เวลาสักพัก เขาเลยคิดว่าอยากให้โปรเจกต์นี้มันเกิดขึ้นก่อนที่ตัวอาคารจะแล้วเสร็จ 

    ก็เลยจับคู่ a.e.y.space กับโรงเรียนสังเคราะห์แสง แล้วตั้งชื่อโปรเจกต์ Portrait of Songkhla มาให้เรา จริง ๆ ตอนนั้นก็รู้สึกตกใจเหมือนกัน เหมือนฝันเป็นจริง ดีใจที่เขามองเห็นว่าเราน่าจะทำได้ เพราะสังคมในย่านเมืองเก่าสงขลามันก็ไม่ได้ใหญ่มาก จริง ๆ มันมีแค่สามถนนคือ นครใน นครนอก และก็นางงามที่เป็นเส้นของย่านเมืองเก่า เพราะฉะนั้นตารางเมตรมันก็ไม่ได้เยอะ เพียงแต่ว่าจะมีครอบครัวย่อย ๆ เยอะมากครับ คือทั้งถนนมันมีเส้นหลักสามเส้น แล้วมันจะมีเส้นตัดระหว่างถนนกับซอยเยอะแยะ จะมีกิจการ มีห้างร้าน มีชีวิตที่หลากหลายมากในย่านเมืองเก่าสงขลา มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นขึ้นมาในการทำโปรเจกต์ Portrait of Songkhla

    Portrait of Songkhla โปรเจกต์ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของย่านเมืองเก่าสงขลา 

    หลักของการทำโปรเจกต์ Portrait of Songkhla คืออยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในย่านเมืองเก่า ซึ่งวิธีการหนึ่งคือการบันทึกภาพของชุมชน ซึ่งชุมชนปี 2563 ผมว่ามันเป็นสิ่งที่น่าบันทึก เพราะรู้สึกว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกปี อาทิคนนี้เสียแล้ว กิจการนี้ปิดไปแล้ว คือมันเกิดอย่างนี้ตลอดเวลา 9 ปีที่ผมทำ a.e.y.space ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงทุกปี แล้วบางทีก็เปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็วมาก แบบบ้านนี้โดนรื้ออีกแล้วหรอ คุณตาคนนี้เสียไปแล้ว หรือว่าร้านอาหารเก่าแก่นี้ปิดไปแล้ว คือเห็นภาพอย่างนี้จำ ๆ ซ้ำ ๆ มาตลอด ก็รู้สึกว่าถ้าปีนี้เราไม่บันทึก ปีหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นเราก็ไม่รู้ได้ 

    แล้วทาง CEA ก็คิดอยากจะชูคุณค่าของเมืองด้วยการทำเป็นภาพถ่าย Portrait ของแต่ละครอบครัว ให้เขาบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตัวเอง ประมาณ 75 เรื่อง ซึ่งมันสะท้อนถึงคุณค่าในแบบต่าง ๆ ที่มีต่อย่านเมืองเก่าสงขลา

    6 หมวดที่ใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวของชาวย่านเมืองเก่าสงขลา 

    โดยการทำงานจะมีทีมจากกรุงเทพฯ มาช่วยไกด์เราก็จริง แต่เราก็มีการเซ็ตทีมขึ้นมาเป็นทีมรีเสิร์ช กับทีมช่างภาพท้องถิ่น ซึ่งเราเคยทำงานด้วยกันมา โดยจะแบ่งการทำงานเป็น 6 หมวดหลัก

    1.ประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของย่านเมืองเก่าสงขลา จะเป็นพวกพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสงขลาที่เคยเป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองสงขลาในอดีต มีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่เป็นที่เคารพของชาวสงขลา มีมัสยิดที่เป็นศูนย์รวมของชาวมุสลิม 

    เพราะจริง ๆ ย่านเมืองเก่าสงขลาสิ่งที่เราชัดเจนมาก ๆ คือการเป็นพหุวัฒนธรรม มีการอยู่รวมกันของ 3 วัฒนธรรมทั้งชาวพุทธ ชาวจีน แล้วก็ชาวมุสลิม และเป็นที่เดียวที่จะไม่เหมือนจังหวัดชายแดน ตรงที่ชาวมุสลิมที่นี่จะใช้ชีวิตแบบคนไทยปกติเลยครับ จะไม่มีการคุมหัว ไม่มีการแต่งตัวแยกออกไป เราจะดูไม่รู้เลยว่าใครเป็นมุสลิม จะมีแค่พิธีละหมาดอย่างการเข้าโบสถ์แค่นั้นเอง

    2.การค้าอาชีพ ความหลากหลายที่สะท้อนภาพของความเป็นสงขลาในอดีตที่มีความรุ่งเรือง เพราะมันจะมีช่วงที่ย่านเมืองเก่าสงขลาเมื่อ 10 ปีที่แล้วตกต่ำมาก เป็นเหมือนแหล่งเสื่อมโทรม ผู้คนทิ้งร้างบ้านเรือนไปกันหมด จะมีเส้นเดียวที่ค่อนข้างจะคึกคักอยู่ตลอดคือเส้นของถนนนางงาม เพราะว่าเป็นเส้นที่ยังมีวิถีชีวิตเดิม ๆ เช่นพวกร้านอาหารดัง ๆ ผู้คนสูงอายุก็ยังอยู่ในถนนเส้นนี้ 

    แต่ว่านครในกับนครนอกในอดีตนั้นสมัยรัชกาลที่ 5-6 เจริญรุ่งเรืองมาก เลยทำให้ลูกหลานของคนที่อยู่บนถนนนี้ ออกไปศึกษาต่อที่อื่นทั้งในกรุงเทพฯ หรือในต่างประเทศ เพราะงั้นเขาก็ไปตั้งรกรากที่อื่นกันหมด มันก็เป็นจุดแรกที่ทำให้สงขลามีแต่ผู้สูงวัย บ้านส่วนใหญ่ก็จะถูกปิดร้าง ถูกเอาไปใช้เช่าถูก ๆ แล้วก็เป็นช่วงที่ชาวประมงเข้ามา มีการเข้ามาของท่าเรือขึ้นสินค้า กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมอย่างพวกซ่อง พวกคาราโอเกะไป 

    แต่มาเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ค่อนข้างจะเห็นชัดเลยว่ามันเปลี่ยนแปลงขึ้นมาก พอเริ่มมีการบูรณะบ้านเมืองมากขึ้น มีเอกชนที่กลับมาเห็นความสำคัญ ทำให้ย่านเมืองเก่าสงขลาก็เริ่มกลับมามีชีวิต เปลี่ยนจากย่านเสื่อมโทรม กลายเป็นย่านที่สามารถมาต่อยอดด้านการท่องเที่ยวได้ 

    3.อาหาร คือเราปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องของอาหารที่สงขลามีความสำคัญมาก เพราะมีการผสานเรื่องของพหุวัฒนธรรม ฉะนั้นอาหารหนึ่งเมนูบางทีก็มีที่มาที่ไป มีการดัดแปลง อย่างข้าวหมูสตู ที่จากชื่อและการทำเป็นสตูเหมือนฝรั่ง แต่ว่าใช้วัตถุดิบของชาวตะวันออก แบบนมเนยไม่มี ก็ใช้กะทิแทน ใส่เครื่องเทศเยอะ ๆ มันก็เลยกลายเป็นคล้าย ๆ หมูตุ๋น กับน้ำซุปเครื่องใน แล้วก็มีรสชาติของความเป็นกะทิกับเครื่องเทศอยู่ ก็จะมีความไม่เหมือนที่อื่น

    4.ศิลปวัฒนธรรม เป็นเรื่องเกี่ยวกับแวดวงศิลปะ และศิลปินที่อาศัยอยู่ในย่านเมืองเก่าสงขลา

    5.ภูมิปัญญา ก็จะเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสำคัญในเมืองซึ่งผลักดันเมืองไปในแง่ต่าง ๆ ทั้งนักวิจัย สถาปนิก นักธุรกิจที่หันมาชุบชีวิตตึกให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมอีกครั้ง

    6.ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่นำความเป็นสงขลามาต่อยอดได้ อย่างการปรับบ้านเก่าไปทำเป็นธุรกิจใหม่ ๆ โดยทั้ง 6 หมวดก็ประกอบกันกลายเป็นคอมมูนิตี้ของย่านเมืองเก่าในปี 2563 รวมทั้งหมดประมาณ 75 เรื่องราว 

    โดยหมวดที่เยอะที่สุดจะเป็นด้านอาหาร เพราะเราเห็นพ้องต้องกันกับทีมว่า เป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากที่สุด ใครพูดถึงสงขลา ไม่ว่าจะเป็นตึกสวย หรืออะไรสวย แต่ว่าอาหารก็โดดเด่นมาก ๆ เพราะงั้นจะมีร้านค้า ร้านเก่าแก่ดั้งเดิมค่อนข้างจะเยอะ ซึ่งเราก็พยายามคัดเลือกเฉพาะที่แสดงความเป็นสงขลาได้ชัดเจนจริง ๆ

    การทำงานของทีมงานโปรเจกต์ Portrait of Songkhla  

    ส่วนของการทำงานก็จะมีบางบุคคลที่ไม่ได้อยู่ประจำในย่านเมืองเก่าสงขลา ก็จะใช้วิธีสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ แต่จริง ๆ เราอยากจะเจอตัวเป็น ๆ มากกว่านะ เพราะเดี๋ยวเขาจะมีการตั้งตัวในการตอบ เราชอบในการถามสด ตอบสด เรารู้สึกว่าเราได้ความเรียลมากกว่า แล้วเรื่องถ่ายรูปก็จะมีการเวิร์กชอปที่จัดโดยโรงเรียนสังเคราะห์แสง กับ a.e.y.space ส่วนการที่ CEA เข้ามาสนับสนุนก็คือการต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยคนในพื้นที่ 

    เพราะจริง ๆ ในการทำโปรเจกต์นี้ เขาก็ไม่ได้อยากได้คนกรุงเทพฯ มาทำเรื่องราวของคนสงขลา แต่ก็มีการไกด์ให้ความรู้ ให้สกิล มีเวิร์กชอปให้ช่างภาพท้องถิ่นสงขลาประมาณ 30 คน ได้เข้ามาเรียนรู้เทคนิคหลาย ๆ อย่าง ได้บทเรียนจากโปรเจกต์เจริญกรุง เพราะจริง ๆ การถ่ายภาพ Portrait มันเป็นอะไรที่ยากมาก เพราะมันเป็นการถ่ายภาพมนุษย์ที่ควบคุมยากที่สุด บางคนเขาอาจจะถนัดถ่ายแลนด์สเคป สถาปัตยกรรม หรือว่าทิวทัศน์ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญมันก็อยู่ที่แสง อยู่ที่อะไร แต่ว่าคนนี่ควบคุมยากที่สุดเลย ซึ่งเราเลือกไว้ 5 สถานที่ แบ่งเป็น 2 ทีม ทีมหนึ่งนำโดยอาจารย์โต้ ทีมหนึ่งนำโดยอาจารย์ตุล

    โดยบทบาทของโรงเรียนสังเคราะห์แสงก็คือเข้ามาไกด์ เพราะทางพี่ ๆ จากโรงเรียนก็พูดมาคำหนึ่งว่าจริง ๆ ไม่มีใครถ่ายรูปคนในพื้นที่ได้สวยเท่าคนพื้นที่ด้วยกันเองอยู่แล้ว เพราะว่าด้วยความที่รู้จักกันมานาน และทุกคนก็ได้สัมผัสตัวตนของทุกคนในบ้านจริง ๆ จากที่เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าเรารู้จักคนในชุมชนดีแล้ว แต่พอยิ่งลงไปมันยิ่งลึกซึ้ง ขนาดผมเองตอนลงไปก็ได้เจอบางคนที่รู้จักพ่อแม่เรา บางคนเขาก็เล่าเรื่องราวของพ่อแม่เราให้ฟัง ว่าเมื่อก่อนเรียนโรงเรียนเดียวกับเขานะ ขนาดคนแก่ ๆ ที่ขายยาก็รู้จักรุ่นก๋งเรา คือตอนลงพื้นที่มันเติมเต็มหัวใจเรามาก ๆ เลย คือมันแค่ไม่ใช่ลงไปทำงาน เหมือนเราได้เข้าไปรู้จักตัวตนของตัวเราเองในอีกรูปแบบหนึ่ง ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นผ่านทุกคนในชุมชนด้วย

    Side Project ส่วนต่อขยายของ Portrait of Songkhla จากโรงเรียนสังเคราะห์แสง

    นอกจากผลงานของช่างภาพท้องถิ่นที่ได้รับการเทรนด์โดยโรงเรียนสังเคราะห์แสงแล้ว ก็จะมีส่วนการถ่ายภาพ Portrait of Songkhla โดยจะเป็น Side Project ของตัวเองมาโชว์ในงานนี้ด้วย ซึ่งมันก็จะมีความหลากหลายจากภาพถ่ายในอดีต 

    คือเรื่องมันมีว่าผมไปเจอฟิล์มกระจกในสงขลาจากร้านถ่ายรูปเก่า ซึ่งเขาไม่เอาแล้ว ประมาณ 20 กว่าแผ่น ที่เราเก็บมาเป็นเวลา 3 ปี ก็เลยมีความคิดอยากทำนิทรรศการเกี่ยวกับงานที่ไปเจอมา จากการส่องดูคร่าว ๆ เป็นรูปคนโบราณในยุคประมาณ พ.ศ. 2480 ใส่หมวก ซึ่งมันสวยมาก เป็นภาพในสตูดิโอครับ แล้วก็มีความคิดว่าอยากจะล้างพอดี เลยเอาฟิล์มกระจกให้ทางทีมสังเคราะห์แสงดู 

    พี่เอ็กซ์-อาวุธ ชินนภาแสน หนึ่งในทีมสังเคราะห์แสงก็เลยอยากทำเป็น Side Project เหมือนกับทำให้มันเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง รวมไปถึงได้นำฟิล์มภาพสงขลาในอดีตที่หาชมได้ยากจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติมาเข้ากระบวนการล้าง และอัดรูปแบบ Silver print เพื่อจัดแสดง

    พี่ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ เลือกคนตัวเล็ก ๆ ที่ทำประโยชน์ให้เมืองและผู้คนที่มีความน่าสนใจในการใช้ชีวิต มาถ่ายรูปกับป้ายที่มีกราฟิก และอักษร เกิดเป็นกิมมิคป้ายรูปอวัยวะภายในร่างกายมีคำว่าสงขลาแทรกอยู่ในรูป 

    พี่โต้-วิรุนันท์ ชิตเดชะ ที่ทำภาพถ่ายแฟชั่น ด้วยการเลือกผู้หญิงชาวสงขลามา 18 ท่าน เพื่อที่จะมา Portrait ความงามแบบหลากหลาย ทั้งคนไทย-จีน คนไทย-พุทธ คนไทย-มุสลิม 

    พี่แบงค์-ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช ที่จะทำด้านอาหารที่หาทานยากของสงขลา ด้วยการถ่ายรูปอาหารที่เป็นเจเนอเรชั่นสุดท้าย ที่อาจจะไม่มีการสืบทอดต่อแล้ว หรือยังต้องการสานต่อ ซึ่งสอดคล้องกับที่เราเคยคิดว่าทำยังไงให้หลังจากงานนี้ ไม่ใช่ดูภาพแล้วแบบจบไปเฉย ๆ มันจะได้แง่คิด หรือลูกหลานเขามาเห็นมันอาจจะเป็นการต่อยอด การสืบต่อเกิดขึ้น

    ส่วนของ a.e.y.space เราก็จะมี Side Project ที่อยากร่วมทำงานกับเด็ก ๆ ในย่านเมืองเก่าสงขลา หลังเรารู้สึกว่างานถ่ายรูปมันดูเป็นผู้ใหญ่มากเกินไป เราลองเอากล้องฟิล์มที่ใช้แล้วทิ้งมาให้เด็ก ๆ ในย่านเมืองเก่า เด็ก ๆ ในโรงเรียนจีนที่อยู่ในถนนนางงามได้ร่วมสนุกกันจากการจัดเป็นเวิร์กชอป Songkhla (Old Town) Through Young Eyes – เมืองสงขลาที่ฉันเห็น เมื่อวันที่ 8-9 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา ให้เด็ก ๆ ได้ออกไปตะลุยถ่ายภาพในย่านเมืองเก่า 

    แล้ววันรุ่งขึ้นเราก็เอาสแกนทั้งหมดของกล้องฟิล์มมาเปิดพร้อมกันกับเด็ก ๆ ให้เขาได้เลือกไปพร้อม ๆ กับพวกเรา ซึ่งจริง ๆ มันฝึกหลาย ๆ อย่าง เพราะเดี๋ยวนี้ทุกอย่างมันไวไปหมด อย่างการถ่ายรูปจากมือถือมันก็เห็นเลย แต่ฟิล์มมันมี 27 รูป มันต้องฝึกการรอคอย และแต่ละภาพมันก็ต้องมีการคิดก่อนถ่าย มันเป็นการชวนให้เด็กกลับมาใช้กล้องฟิล์ม ได้จับอะไรที่มันดูเป็นแมนนวลมากขึ้น

    Portrait of Songkhla โปรเจกต์ที่ทำให้ครอบครัวมีโอกาสกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง 

    คือทุกครอบครัวที่เราได้สัมภาษณ์จากการไปลงพื้นที่ เขาก็โหยหาเหมือนกันนะ มีหลายครอบครัวที่บอกกับเราว่าไม่ได้ถ่ายรูปครอบครัวมาหลายสิบปีแล้ว นี่เป็นโอกาสเดียวที่จะได้รวมตัวครอบครัวมาถ่ายรูปด้วยกัน และก็จบจากงานนี้ผมจะต้องนำรูปพร้อมกรอบไปมอบให้แต่ละบ้าน เพราะว่าโปรเจกต์นี้มันสำเร็จได้ เกิดจากความร่วมมือกันของคนในเมืองจริง ๆ แล้วมันเป็นการทำให้คนหนุ่มสาวในเมืองที่พึ่งกลับมาอยู่บ้านได้มีโอกาสเข้าไปรู้จักชุมชนของตัวเองจริง ๆ

    โดยในนิทรรศการนอกจากภาพ Portrait ผู้ชมยังจะได้เห็นข้อมูลเชิงลึกของแต่ละครอบครัว ในประเด็นต่าง ๆ เพราะจริง ๆ ความคิดของพวกเราไม่ได้อยากทำนิทรรศการภาพถ่ายสวย ๆ แล้วจบ มันมีประเด็นเรื่องการสืบทอดแทรกลงไปด้วย 

    อย่างทุกวันนี้เราอาจจะเห็นว่าคุณตาคนนี้เสียไปเมื่อไหร่ สูตรอาหารของเขาก็ไม่มีคนสืบทอด ผมคิดว่าประเด็นการสืบต่อกิจการมันเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่เราพยายามถามกับทุกครอบครัวว่าจะมีรุ่นต่อไปไหม เพื่อที่จะสามารถจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ ๆ ได้นำไปต่อยอดเป็นอาชีพ และทำให้อาหารเก่าแก่น่าอนุรักษ์ในเมืองไม่สูญหายไปตามอายุขัยของผู้สร้าง ซึ่งมันน่าสนใจมาก และเราอยากจะสอดแทรกเข้าไปด้วยในโปรเจกต์นี้

     

    สัมผัสชีวิตของย่านเมืองเก่าสงขลาผ่านนิทรรศการเต็มรูปแบบในวันที่ 11-27 ก.ย. 63 

    ในวันงานแสดงนิทรรศการคือวันที่ 11-27 ก.ย. 63 เพื่อความยืดหยุ่นสำหรับผู้ที่มาชมนิทรรศการ แล้วก็ในงานจะมีการจัดนิทรรศการหลาย ๆ ที่ในเมือง ไม่ได้เป็นที่ใดที่หนึ่งเป็นหลัก มีการเสริมกิจกรรมต่าง ๆ อย่างโฟโต้บูธที่ร้านถ่ายรูปเก่า มีการเล่าเรื่องเมืองสงขลาโดยนักพากย์หนังเก่า คือเราใช้คนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง

    และย่านเมืองเก่าสงขลาเป็นเมืองที่หลาย ๆ อย่างอยู่ในระยะเดิน สิ่งที่ทำให้เราสัมผัสความเป็นสงขลาได้ดีที่สุดคือการเดิน และผมว่าเสน่ห์ของย่านเมืองเก่าสงขลามันอยู่ที่ผู้คนจริง ๆ คือสถาปัตยกรรมยังไงมันก็อยู่ได้อยู่แล้ว แต่ต่อให้บ้านเมืองสวยงามขนาดไหน แต่ถ้าผู้คนล้มหายตากจากไปหมด ความดึงดูดของมันก็หายไป และผมเชื่อว่าใน 5 ปี คนเก่า คนแก่ในย่านเมืองเก่าก็หมดจริง ๆ นะ และโปรเจกต์นี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้บันทึกอะไรแบบนี้ลงไปแบบเป็นจริงเป็นจัง

    พื้นที่จัดแสดงภาพถ่ายส่วน Main Exhibition

    – โรงสีแดง Hup Ho Hin

    – อาคารฟุเจา

    – ผนังเก่าบริเวณถนนนางงาม

    พื้นที่จัดแสดง Side Project

    – บ้าน 9 ห้อง

    – โรงงิ้ว

    – ผนังในซอยเล็ก ๆ บนถนนครใน-นครนอก

    – a.e.y.space

    ขอบคุณภาพชุดโปรโมตโปรเจกต์ Portrait of Songkhla จากโรงเรียนสังเคราะห์แสง