เปิดความร่วมมือพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านกายภาพดิจิทัล และแพลตฟอร์มการบริหารจัดการย่านอัจฉริยะ ตามกรอบกฎบัตรเมืองอัจฉริยะ (Smart City Charter) หรือ “สมาร์ทซิตี้ชาร์เตอร์”
สำนักงานกฎบัตรแห่งชาติเปิดความร่วมมือสร้างสมาร์ทซิตี้
ซึ่งสำนักงานกฎบัตรแห่งชาติ (National Charter) ที่ก่อตั้งโดย “โครงการพัฒนากลไกเชิงพื้นที่ในการพัฒนาเมือง โดยการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคม ระยะที่ 2” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ร่วมกับ
– สมาคมการผังเมืองไทย
– สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย
– บริษัทยูไนเต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (UTE)
พร้อมด้วย 13 เทศบาล ซึ่งปัจจุบันเป็นเครือข่ายของกฎบัตรแห่งชาติ ประกอบด้วย – เทศบาลนครเชียงใหม่
– เทศบาลเมืองแม่เหียะ จ.เชียงใหม่
– เทศบาลนครนครสวรรค์
– เทศบาลนครอุดรธานี
– เทศบาลนครขอนแก่น
– เทศบาลนครระยอง
– เทศบาลนครรังสิต
– เทศบาลเมืองป่าตอง
– เทศบาลเมืองกระบี่
– เทศบาลเมืองหัวหิน
– เทศบาลเมืองทุ่งสง
– เทศบาลเมืองชุมแพ
– เทศบาลแก่งคอย
โดยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ 7 มหาวิทยาลัยเข้าร่วม
– มหาวิทยาลัยศิลปากร
– มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต
– มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– มหาวิทยาลัยพายัพ
– มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
– มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
– มหาวิทยาลัยแม่โจ้
เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง และเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ (New Urban and Economic Development Platform) โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมเป็นกลไกในการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันโดยรวมให้กับประเทศ ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้มีเป้าหมาย 4 ข้อได้แก่
1.สนับสนุนการตกลงร่วมกันของทุกภาคส่วนของสังคมในการพัฒนาเทศบาลเป็นพื้นที่นำร่องพัฒนาเป็นย่านอัจฉริยะ
2.ร่วมกันวางแผนและออกแบบแนวคิดด้านการพัฒนาด้านกายภาพโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค
3.ส่งเสริมย่านอัจฉริยะเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
4.สร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนาฐานข้อมูล เพื่อการวิจัย และนำไปปฏิบัติใช้ให้สำเร็จลุล่วง
เปิดตัวแม่ทัพหลักในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ชาร์เตอร์
ว่าแต่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะช่วยยกระดับการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันระดับเมือง และยกระดับประเทศได้อย่างไร ชวนทุกคนมาฟังรายละเอียดกันแบบจัดเต็มกับบรรดาหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในแผนพัฒนาโครงสร้าง “สมาร์ทซิตี้ชาร์เตอร์” ชูระบบเมืองอัจฉริยะต้นแบบนำประเทศไทยสู่เมืองนานาชาตินี้กับ
1.ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม
รองผู้อำนวยการภารกิจ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์และกรอบงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
2.รศ.ดร.ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
3.ดร.ภาสกร ประถมบุตร
รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
4.นายพิรชัย เบญจรงคกุล
รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (UTE)
5.อาจารย์สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย
รองคณบดี วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น
6.ศิฬินภา ศิริสานต์
นักวิจัยกฎบัตรแห่งชาติ
ช่วงต่อยอดงานวิจัยสู่การลงมือปฎิบัติสร้างเมืองอัจฉริยะที่ตอบโจทย์คนในพื้นที่
ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม : ก่อนอื่นต้องเกริ่นว่าเราก็เดินทางกันมาไกลเหมือนกันกว่าจะมาถึงจุดนี้หลังจากนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการนำผลวิจัยมาใช้ประโยชน์เป็นช่วงเแห่งความไปต่อเพราะผมคิดว่าจริงๆแล้วเมืองเป็นประเด็นที่ค่อนข้างสำคัญซึ่งความยากในการทำงานคือไม่ใช่เราไม่รู้ว่าจะทำอะไรแต่ว่าจะทำอย่างไรโดยงานวิจัยของเราในการดำเนินงานครั้งนี้จะเป็นคำตอบ
และขั้นตอนการทำงานของเราต่อจากนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีอย่างเดียว ประมาณ 80% ของงานเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาคประชาชน ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาจริง ๆ และเฟสต่อไปน่าจะเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น เพราะพอเราเห็นเสียงตอบรับจากภาคสังคมแล้ว ผลประจักษ์มันก็เริ่มเห็น
ซึ่งแพลตฟอร์มที่เราตั้งเป้าหมายในการสร้างคือพื้นที่ที่ทุกคนได้มายืนอย่างเท่าเทียมกันในชานชาลา เพราะกลไกสำคัญในการทำงานครั้งนี้ คือการทำให้ทุกคนสามารถมาพัฒนาร่วมกันได้ ซึ่งตอนนี้งานวิชาการมันมาถึงขอบแล้ว ต่อไปเป็นเรื่องของการเดินหน้าปฎิบัติ และถ้าท้องถิ่นไม่เข้ามามีส่วนร่วม โอกาสที่ SMEs ในบ้านเราจะทัดเทียมกับทุนต่างชาติก็เป็นไปได้ยาก
สวยทั้งรูป จูบต้องหอม คือนิยามของของสมาร์ทซิตี้ชาร์เตอร์
ดร.ภาสกร ประถมบุตร : ในความเห็นของผมคือเราพยายามแต่งตัวมันหน่อย ให้น่ามาลงทุน เพราะว่าพอมันเกิดขึ้น ประชาชนก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น ซึ่งคำว่าแพลตฟอร์ม ก็คือไม่จำเป็นต้องมีคนทำที่กินรวบคนเดียว ซึ่งภาครัฐมีหน้าที่ทำให้คนเข้ามาหลากหลาย เพราะโครงสร้างพื้นฐานบางอย่าง ยังไงมันก็ต้องลงทุน
ถ้าโครงสร้างพื้นฐานสำเร็จ จะกี่โครงการมันก็สำเร็จ !
อาจารย์สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย : อย่างที่ขอนแก่นที่เริ่มต้นสมาร์ทซิตี้ ตอนแรกเราไม่ได้ทำโครงการ เราคิดว่าทำโครงสร้างดีกว่า ซึ่งมันเริ่มต้นด้วยทุนมนุษย์ก่อน ที่เป็นกุญแจสำคัญที่พวกเราพยายามทำ โดยเราพยายามสร้างโครงสร้างมากกว่าโครงการ เพราะเมื่อโครงสร้างสำเร็จ จะกี่โครงการก็สำเร็จ เราต้องมองเมืองเป็นเหมือนห้างสรรพสินค้า แอร์ก็คือต้นไม้ บันไดเลื่อนคือสองแถว ทางเดินเท้าที่ดี นี่คือสิ่งที่เราจะต้องช่วยกันพัฒนาต่อไป เป้าง่าย ๆ คือถ้าทำแล้วความเป็นอยู่ของคนในเมืองไม่ได้ดีขึ้นอย่าไปทำครับ เพราะประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ แต่เป็นจังหวัดของพวกเราทุกคน
ย่านรัตนโกสินทร์ พื้นที่ทดลองในการสร้างสมาร์ทซิตี้ชาร์เตอร์
รศ.ดร.ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์ : สำหรับมหาวิทยาลัยศิลปากรพื้นที่ทดลองในการสร้างเมืองอัจฉริยะของเราคือย่านรัตนโกสินทร์เพราะหากมองดีๆมันเป็นย่านที่มีสถาปัตยกรรมมากมายมีโบราณสถานมีย่านชุมชนเก่าๆและก็มีผู้ประกอบการร้านอาหารอร่อยๆเยอะมากแต่ที่สำคัญคือพื้นที่ย่านรัตนโกสินทร์นอกจากการท่องเที่ยวแล้วจริงๆมันมีคนรุ่นใหม่มาตั้งกิจการต่างๆมากมาย
ซึ่งศิลปากรก็อยู่ตรงนั้นมาเนิ่นนาน แล้วก็มีการสื่อสารกับคนในพื้นที่ มีงานวิจัย ก็มานั่งคิดกันว่าจะทำยังไง ก็ได้ความว่าจะทำออกมาเป็นแพลตฟอร์มให้หลาย ๆ คนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย อย่างการสร้างครีเอทีฟฮับซึ่งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน ให้คนที่มีความคิดต่าง ๆ เข้ามาอยู่รวมกัน แล้วก็มีส่วนดิจิตอล ซึ่งพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์มีข้อมูลต่าง ๆ มหาศาล ทั้งที่กทม. ที่ศิลปากร หรือจะเป็นองค์กรต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มันมีประโยชน์ มีคุณค่ามหาศาล แต่ไม่เคยเอามาอยู่ในที่เดียวกัน ต่างคนต่างดูแลจัดการ ศิลปากรก็เลยพาร์ทเนอร์กับกทม. ด้วยการเอาข้อมูลทุก ๆ อย่างเท่าที่จะหาได้เข้ามาอยู่ในที่เดียวกัน และกรองออกมาเป็นโมเดลการสร้างเมืองสมาร์ทซิตี้
สมาร์ท บล็อก โมเดลต้นแบบแห่งอนาคตของสมาร์ทซิตี้ชาร์เตอร์
ดร.ภาสกร ประถมบุตร : เวลาเราไปจับคนในเมืองขึ้นมาคนหนึ่ง และบอกว่าบ้านเรามีสมาร์ทซิตี้แล้วนะรู้ยัง เขาอาจจะบอกไม่รู้ ไม่เห็นมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเขาเลย สมาร์ท บล็อกมันก็จะเป็นเหมือนกับโชว์เคสของจริงสัมผัสได้ เทศบาลก็จะเห็นเลยว่ามันอยู่ได้จริงรึเปล่า มันเป็นพื้นที่ลองผิดลองถูกด้วย
ศิฬินภา ศิริสานต์ : ตอนแรกที่เราเลือกทำสมาร์ท บล็อก เราจะเลือกพื้นที่ที่มีเรื่องของเศรษฐกิจเป็นตัวนำอยู่แล้ว โดยคาแรคเตอร์ที่เลือกมี 2 แบบคือ
1.พื้นที่ที่ปัจจุบันเศรษฐกิจยังมีการดำเนินการได้ดีอยู่
2.พื้นที่ที่เคยรุ่งเรืองมาก่อนและเราก็ฟื้นฟูขึ้นมา
อย่างเยาวราชซึ่งจะเป็นพื้นที่ของเมืองที่มีการเจริญเติบโตอยู่แล้วซึ่งวัตถุประสงค์ที่เราทำสมาร์ทบล็อกโจทย์ของเราง่ายๆเลยคือทำยังไงให้เมืองน่าอยู่ทำยังไงให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจสังคมสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มต้นเราจะเริ่มจากการพัฒนาทางกายภาพก่อนเป็นที่มาว่าทำไมต้องให้เทศบาลเข้าร่วมเพราะเทศบาลเองนับเป็นจุดเริ่มต้นที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการเมืองของตัวเอง
ทั้งเราพยายามพัฒนาเมืองที่เอื้อให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด การพัฒนา พยายามเชื่อมโยงความต้องการของคนระดับล่าง หรือคนที่อยู่ในพื้นที่จริง ๆ ว่าเขาต้องการอะไร กับคนที่มีวิสัยทัศน์ มีอำนาจในการตัดสินใจ มีกำลังเงิน และดึงคนทั้ง 2 กลุ่มมาอยู่ตรงกลาง
ร่วมกันหาคำตอบว่าเราจะพัฒนาและขับเคลื่อนไปยังไงเพราะสิ่งสำคัญที่มันขาดเสมอของประเทศไทยเราณปัจจุบันคือข้อมูลในการตัดสินใจที่กระจายอยู่มากและไม่เหมือนกันเลยอยู่คนละแพลตฟอร์มเชื่อมโยงกันไม่ได้ข้อมูลไม่ตรงกันซึ่งการทำสมาร์ทบล็อกจะเป็นการเก็บข้อมูลแบบองค์รวมและหนึ่งเดียวมาให้เราทุกคนได้ตัดสินใจกันอย่างมีประสิทธิภาพ
สรุปภาพรวมการทำงานเพื่อนำไปสู่สมาร์ทซิตี้ชาร์เตอร์
กฎบัตรเมืองอัจฉริยะคาดหวังในการใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการปรับปรุงระบบกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และสาธารณูปโภคของเทศบาล เพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) อันเป็นต้นทางของการสร้างเมืองสุขภาพ (Healthy City) และเมืองเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน (Sustainable City)
โดยข้อตกลงร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรประชาชน จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการลงทุนทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมทั้ง การฟื้นฟูชุมชนให้มีศักยภาพในการรองรับความเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การเป็นเมืองที่ยั่งยืน ตาม 4 ขั้นตอนได้แก่
1.กฎบัตรแห่งชาติจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการวางแผน และการออกแบบทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน
2.เทศบาล สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ
3.บริษัทเอกชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐด้านดิจิทัล ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล
4.เทศบาลและชุมชน รับผิดชอบในการลงทุนปรับปรุงฟื้นฟูชุมชน การออกข้อกำหนดหรือเทศบัญญัติในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ย่านอัจฉริยะ