การบริโภคของคนเมืองในยุคปัจจุบันมีผลต่อการลดจำนวนของป่าไม้ ซึ่งทางภาครัฐเองก็ไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงจำเป็นต้องวางโรดแมปฟื้นฟูพื้นที่ป่า ภายใต้การพัฒนาพันธบัตรป่าไม้ใหม่
คนเมืองใช่ว่าไม่ทำลายป่า
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยลดลงเรื่อยๆ โดยข้อมูลในปี 2504 ที่มีการสำรวจโดยวิธีการแปลภาพถ่ายจากดาวเทียมพบว่า ป่าไม้ในประเทศไทยมีเนื้อที่ 273,629 ตร.กม. (171,018,125 ไร่) หรือร้อยละ 53.33 แต่ปัจจุบันปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 31.58 หรือเท่ากับ 163,479.69 ตร.กม. (102,174,805.09 ไร่) และลดลงจาก ปี 2558 ร้อยละ 0.02 หรือ 60,000 ไร่ โดยประมาณ นั่นหมายถึง ในช่วง 50 กว่าปีที่ผ่านมามีการใช้พื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 110,149.31 ตร.กม. เกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ที่เคยสำรวจครั้งแรก!
เหตุผลหลักที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลง คืออุตสาหกรรมหลักในการทำที่อยู่อาศัย การทำการค้า เช่น อุตสาหกรรมโรงเลื่อย โรงงานกระดาษ เป็นต้น โดยข้อมูลในปี 2559 ของคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ไทยมีธุรกิจ 8 อุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไม้ราว 58 ล้านตัน/ปี เท่ากับต้องมีพื้นที่ในการเพาะปลูกไม้ไม่น้อยกว่า 20 ล้านไร่
หรือแม้แต่จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ความต้องการจากภาคเกษตรกรรมมากขึ้น พื้นที่ป่าไม้จึงลดลง มีการส่งเสริมให้ทำเกษตรเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และการปลูกยางพารา ที่เป็นสาเหตุหลักของการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ และทำให้ดินไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ตกเป็นจำเลยของสังคม ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ทำให้ป่าเสื่อมโทรม ดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดภาคเหนือ เช่น จ.น่าน ที่ส่วนหนึ่งได้กลายเป็นภูเขาหัวโล้นไปแล้ว
ออกเครื่องมือเศรษฐกิจเพิ่มพื้นที่ป่า
ที่ผ่านมา การฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพดไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะการปลูกข้าวโพดได้รับการสนับสนุนจากวงจรธุรกิจอาหารสัตว์ที่ให้ผลกำไรต่อเจ้าของธุรกิจ กอปรกับการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ก็ต้องการการลงทุนและการเฝ้าดูแลอย่างต่อเนื่อง ส่วนการปลูกป่าจากประชาชนก็ประสบปัญหาด้านทุนสนับสนุนและการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ไทยเผชิญกับการสูญเสียพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง จนภาครัฐไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าตามเป้าหมายที่วางไว้ 40% ของพื้นที่ประเทศไว้ได้ ฉะนั้น ภารกิจสำคัญคือ การฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับคืนมา 26 ล้านไร่ ซึ่งไม่สามารถกระทำได้โดยภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว จึงจำเป็นต้องพัฒนาพันธบัตรป่าไม้ ซึ่งเป็นกลไกทางการคลังที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงปัจจัยการผลิตต่างๆ ในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการปลูกป่าไม้ในรูปป่าเศรษฐกิจกึ่งป่าอนุรักษ์ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงปัจจัยการผลิตเพื่อการฟื้นฟูสภาพป่า ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน แหล่งเงิน และความต้องการใช้ไม้เชิงพาณิชย์ และนำไปสู่การแก้ปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย
กลไกพันธบัตรป่าไม้
ในช่วงการดำเนินงานของการปลูกป่าเศรษฐกิจกึ่งป่าอนุรักษ์ กลไกพันธบัตรป่าไม้จะมีกระแสรายได้จากหลายแหล่ง เช่น จากการขายไม้ตามระยะเวลาการตัดไม้ รายได้บางส่วนจากรัฐบาลจากการที่พื้นที่ป่าไม้สามารถลดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง รายได้จากภาคอุตสาหกรรมที่ป่าไม้ทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอน หรือรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นต้น รายได้เหล่านี้นอกจากจะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรที่ทำหน้าที่ปลูกป่าและดูแลป่าแล้วยังจะนำมาจ่ายคืนให้กับประชาชนและผู้ลงทุนในพันธบัตรป่าไม้
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรเองก็ต้องมีส่วนร่วม เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ป่าไม้กลับมาสภาพดีดังเดิม โดยเปลี่ยนจากการเป็นผู้บุกรุกมาเป็นผู้ดูแลป่า ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวอย่างมาก เพราะเป็นไปได้ว่า พวกเขาอาจไม่มีทางเลือกในชีวิตมากพอ จึงต้องตกเป็นผู้ทำลายป่าโดยไม่รู้ตัว
แต่สำหรับเราในฐานะคนเมืองที่เป็นส่วนย่อยของประเทศ ซึ่งมีทางเลือกในการดำเนินชีวิต ก็อาจเป็นการง่าย ถ้า “เลือก” หรือ “ลด ละ” ความสะดวกสบายบางอย่างของตัวเอง ที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ธรรมชาติในระยะยาว
ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิจัยทีดีอาร์ไอ
“ที่ผ่านมาเรามีปัญหาพืชเชิงเดี่ยวไปทำลายป่าไม้ แต่ก็พยายามต่อสู้กับเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน แต่ทำไม่ค่อยได้ เลยต้องสูญเสียป่าไปจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะแถบภาคเหนือ เกิดปัญหาผลกระทบตามมา หน้าแล้งน้ำไม่มี หน้าฝนน้ำก็ท่วม วนไปมา แสดงให้เห็นว่าเราจัดการไม่ได้ ซึ่งกลไกที่เรียกว่าพันธบัตรป่าไม้ น่าจะเป็นทางออกที่ช่วยได้”
[English]
Growing Populations, Dwindling Forests
Thailand’s forest area has been reducing every year. An aerial photo taken in 1961 showed there were 273,629 square kilometers of forest area, or 53.33% of the country’s total land area, but the latest photo in 2016 indicated that number came down to 31.58% of the total land area — or around 163,479.69 square kilometers.
The main causes of such a plunge are the industrial sectors active in habitation and trade, such as sawmills and paper factories, as well as the fast population growth, which has led to a rise in demand for produce from the agricultural sector and, consequently, a reduction in forest land.