Tuesday, May 23, 2023
More

    We Park เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นเมืองน่าอยู่

    กรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะหลัก 39 แห่ง ในจำนวนนี้มีสวนที่อยู่ในระยะเดินถึงได้ใน 10 นาที เพียง 3% และใน 15 นาที เพียง 5% ขนาดพื้นที่สีเขียวรวมต่อสัดส่วนประชากรเพียง 6.5 ตร.ม./คน แน่นอนว่ายังต่ำกว่าเกณฑ์ของ WHO ที่กำหนดว่าพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมต้องมีขนาด พื้นที่ 9 ตร.ม./คน และควรเดินถึงได้ในระยะ 400 เมตร หรือภายใน 5 นาที 

    ปัญหาหลักที่ทำให้กรุงเทพฯ เพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ยาก คือ เรื่องราคาที่ดินที่มีราคาสูงมาก และส่วนใหญ่เป็นที่ของเอกชน ที่ใช้พัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การแสดงสินค้าซะเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับยังมีการดูแลต้นไม้อย่างไม่ถูกวิธี ขณะที่สวนสาธารณะที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วการใช้งานยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน พื้นที่สาธารณะที่มียังไม่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และยังขาดความมีชีวิตชีวา


    ภาคีเครือข่ายร่วมสร้าง We Park 
    จากข้อจำกัดข้างต้น ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่าง สมาคมภูมิสถาปนิกแห่งประเทศไทย กับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม จัดทำโครงการ “We Park” เพื่อนำพื้นที่ว่างมาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่มีคุณภาพและยั่งยืน

    We Park คือ การพัฒนาพื้นที่สีเขียว ในรูปแบบของ Pocket Park หรือสวนขนาดเล็ก โดยสามารถนำพื้นที่นอกอาคาร ภายในอาคาร บนอาคาร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือมีการใช้งานน้อย ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย สามารถเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนในเมืองเข้ามาร่วมใช้งานได้อย่างน้อย 10 ปี หรือถาวร มาพัฒนา โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย


    ออกแบบอย่างมีส่วนร่วม 
    ในส่วนของการทำงานโดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมทาง สมาคมภูมิสถาปนิกแห่งประเทศไทย จะเป็นกลไกกลางระหว่างเจ้าของที่ดินและผู้สนับสนุนที่มีความต้องการที่จะพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน และมีตัวแทนภาคีเครือข่าย ร่วมลงพื้นที่ กับนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ที่เข้าร่วมทำเวิร์คชอป อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อพูดคุยกับชาวบ้าน หาข้อมูล ค้นหาแนวทาง และออกแบบให้ตอบสนองต่อความต้องการของคนในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้ด้านการออกแบบภูมิสถาปัตย์

    สำหรับการออกแบบ จะต้องคำนึงถึงการจัดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สาธารณะ (Public Space for All) ออกแบบตามหลัก Universal Design สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม อยู่ในระยะที่เดินถึง ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างหลากหลาย เป็นพื้นที่สุขภาวะ ให้คุณค่าเชิงนิเวศ และเป็นพื้นที่มีความยั่งยืน


    5 พื้นที่นำร่อง Pocket Park 
    ขณะนี้ We Park กำหนดพื้นที่นำร่องไว้ 5 จุด ซึ่งได้มีการลงพื้นที่ทำเวิร์คชอปแล้ว 3 จุด ได้แก่
    จุดแรก คือ พื้นที่ว่างหลังวัดหัวลำโพง ที่มีโจทย์ให้ออกแบบเป็นพื้นที่สาธารณะที่ผสมผสาน ความเป็น Pocket Park และ Community เพื่อให้ตอบสนองต่อการใช้งานที่หลากหลายของคนในชุมชน และใช้งานได้อย่างปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง

    จุดที่ 2 คือ พื้นที่ย่านราชประสงค์ ซึ่งเป็นย่านการค้าขนาดใหญ่และเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางหลากหลายรูปแบบ มีโจทย์ให้ออกแบบเป็นพื้นที่สาธารณะ ผสมผสานระหว่าง Pocket Park และ Commercial เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะรองรับคนในชุมชน นักท่องเที่ยว และคนที่มาใช้ระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบต่างๆ ให้สะดวก ปลอดภัย

    จุดที่ 3 คือ พื้นที่ย่านอโศก บริเวณหน้าธนาคารเกียรตินาคิน ข้ามไปยังมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เชื่อมต่อไปยังท่าเรือ ซึ่งเป็นจุดที่มีคนหนาแน่น และการจราจรติดขัด จึงมีโจทย์ให้ออกแบบพื้นที่สาธารณะเพื่อรองรับการใช้งานของคนหลายรูปแบบและเชื่อมต่อเส้นทางสัญจรให้สะดวกและปลอดภัย

    ทั้ง 3 จุดนำร่อง ได้รับการออกแบบในหลายรูปแบบที่เอื้อต่อการใช้งาน มีทั้งใช้ประโยชน์จากกำแพงตึก พื้นที่หน้าบ้าน พื้นที่ส่วนกลางของชุมชน มีที่ออกกำลังกาย ทำจุดพักคอยบริเวณป้ายรถเมล์ให้มีเอกลักษณ์สามารถทำกิจกรรมระหว่างรอรถโดยสารได้ มีปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ผักสวนครัว เพื่อลดความร้อน ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมถึงใช้ป็นตัวจัดโซนพื้นที่ใช้งาน มีรูปแบบการปรับปรุงทางเท้าให้สวยงามเดินสะดวก ซึ่งหลังจากนี้ จะนำแบบที่มีเสนอให้ชุมชนและกลุ่มเป้าหมายเลือกว่าจะใช้รูปแบบใด จากนั้น โครงการ We Park จะส่งต่อแบบที่ผ่านการคัดเลือก ให้ทาง กทม. เพื่อนำไปประเมินวงเงินค่าใช้จ่าย และดำเนินการก่อสร้างหรือปรับปรุงพื้นที่ต่อไป

    We Park จะเป็นโครงการต้นแบบ ของการสร้างพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะให้มีมากขึ้น โดยจะเกิดขึ้นจากความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะทำให้ได้พื้นที่สาธารณะที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน และใช้ประโยชน์ได้จริง รวมถึงสร้างความรู้สึกว่าพื้นที่นั้นเป็นของทุกคน เป็นพื้นที่ที่ต้องช่วยกันดูแลรักษาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่เมืองของเรา


    คุณยศพล บุญสม – อุปนายกสมาคมภูมิสถาปนิกแห่งประเทศไทย ฐานะผู้ประสานงานโครงการ We Park
    “We Park จะเป็น Platform ในการเชื่อมโยง Stakeholder ในการทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ ให้เมืองของเรา เป็นการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้เห็นว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวไม่ใช่หน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว ถ้ามีโอกาสทุกคนก็พร้อมที่จะเข้ามาร่วมงาน และเมื่อมีนโยบายสนับสนุนก็จะส่งเสริมให้มีความยั่งยืน”