ปัจจุบันรัฐสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 13 ของรายจ่ายทั้งประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยในอีก 15 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นถึง 1.4-1.8 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
ยิ่งเสี่ยงโรคยิ่งจ่ายเยอะ
ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เผยผลการศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพของไทย พบว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 ในช่วงก่อนปี 2545 เป็นประมาณร้อยละ 13 หรือประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี เฉลี่ยคนละ 6,286 บาท ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา
หากประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในอัตราส่วน 1 ต่อ 0.8 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยในอีก 15 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่ประมาณ 4.8 แสนล้านบาท และหากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ค่าใช้จ่ายดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 1.4 ล้านล้านบาท แต่หากรายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนเท่ากันกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ คือ 1 ต่อ 1 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยจะมีค่าประมาณ 6.3 แสนล้านบาท โดยจะเพิ่มสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย
ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า กลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable Diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา สำหรับประเทศไทย มีประชากรกว่า 14 ล้านคนที่เป็นโรคในกลุ่ม NCDs เสียชีวิตมากกว่า 300,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากรทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 25.2 พันล้านบาทต่อปี สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะประชากรในเขตเมือง มีอัตราการป่วยจากโรค NCDs มากกว่าประชากรในเขตชนบท โดยโรคที่มีอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ และโรคเบาหวาน ซึ่งสามารถป้องกันและบรรเทาได้ด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยง
ความยืดหยุ่นค่ารักษาพยาบาลต่อรายได้
เมื่อประชากรในประเทศมีรายได้มากขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศจะก้าวตาม โดยพบว่ากลุ่มรายได้ต่ำจะมีค่าความยืดหยุ่นของรายได้ต่อค่ารักษาพยาบาลต่ำ หมายถึง จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเมื่อจำเป็นเท่านั้น และใช้สิทธิประกันสุขภาพที่ได้รับ ส่วนกลุ่มรายได้ปานกลาง จะมีค่าความยืดหยุ่นสูง เพราะมีตัวเลือกในการใช้บริการเพิ่ม เช่น นำเงินไปซื้อวิตามิน หรือจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่ม ทั้งที่อาจไม่มีความจำเป็น
สำหรับกลุ่มรายได้สูงจะมีค่าความยืดหยุ่นต่ำ คือ แม้ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเพิ่ม แต่ก็ไม่กระทบต่อรายได้ อีกทั้งส่วนใหญ่จะมีประกันสุขภาพส่วนตัวอยู่แล้ว หรือมีช่องทางในการรักษาสุขภาพอื่นๆ
ขณะเดียวกันการใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าของผู้ป่วยที่มีรายได้สูงขึ้น จะมีอัตราการไปใช้สิทธิลดลง เหตุผลหลักคือ ระยะเวลาการรอคิวที่นาน และใช้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ครอบคลุม โดยยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อใช้ทางเลือกอื่นที่สะดวกกว่า เช่น โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ซื้อประกันสุขภาพส่วนตัว
ด้าน ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ได้วิเคราะห์อัตราค่าใช้จ่ายรวมของผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2558 พบว่า ค่าใช้จ่ายที่ใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชน/คลิกนิก ร้อยละ 100 คิดเป็นมูลค่า 1,595 ล้านบาท ใช้บริการในโรงพยาบาลสังกัดรัฐ/มหาวิทยาลัย ร้อยละ 95.2 คิดเป็นมูลค่า 354 ล้านบาท และซื้อยาตามร้านค้าและหมอพื้นบ้าน ร้อยละ 89.8 คิดเป็นมูลค่า 345 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพคนไทย 3 ใน 4 ล้วนเป็นการใช้ไปกับบริการด้านการรักษาพยาบาลและค่ายา ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น
ปัญหาทับซ้อนระบบประกันสุขภาพ
ระบบประกันสุขภาพในประเทศไทย แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่ซื้อประกันสุขภาพส่วนตัว
2. กลุ่มที่ได้รับสวัสดิการข้าราชการ
3. พนักงาน ลูกจ้างองค์กร และบุคคลทั่วไป ที่เข้าระบบประกันสังคม
4. ผู้ได้รับสิทธิจากระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือประกันสุขภาพถ้วนหน้า
โดยปัจจุบันมีผู้ทำประกันสุขภาพส่วนตัวกับบริษัทประกันกว่า 10 ล้านคน อีกประมาณ 5 ล้านคน เป็นข้าราชการที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ส่วนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน พนักงาน ลูกจ้าง ต้องเป็นสมาชิกประกันสังคมตามกฎหมายประมาณ 12 ล้านคน และผู้มีสิทธิใช้ประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณ 40 ล้านคน โดยทั้ง 4 กลุ่มนี้ไม่ได้แยกจากกันเด็ดขาด และมีการใช้สิทธิทับซ้อนกันอยู่
อย่างไรก็ตามแม้รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาทับซ้อนของ 3 กองทุน คือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาหาแนวทางที่ทำให้แนวคิด ข้อสมมติ และวิธีการที่ได้มาซึ่งข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อความสะดวกและความชัดเจนต่อการประมาณค่าใช้จ่ายในอนาคตของทั้งประเทศ
อีกทั้งควรมีนโยบายพร้อมมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ ที่อาจจะส่งผลเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้สูงขึ้นอีกมาก และต้องกำหนดมาตรการป้องกันและแผนการควบคุมโรคโดยเฉพาะโรคในกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องจากโรคเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถป้องกันและบรรเทาได้ และจะช่วยลดโอกาสที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว
ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ
“ในอีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีค่ารักษาพยาบาลเกือบ 2 ล้านล้านบาท หากยังไม่มีแนวทางการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ชัดเจน โดยเฉพาะภาวะการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ดังนั้น รัฐควรกำหนดแผนการควบคุมโรคและมาตรการป้องกัน เนื่องจากโรคเหล่านี้ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งสามารถป้องกันได้”