ดัชนีผู้ประกอบการสตรีของมาสเตอร์การ์ดรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานระหว่างประเทศ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ยูเนสโก และรายงานการศึกษาความเป็นผู้ประกอบการระดับโลก (The Global Entrepreneurship Monitor) เพื่อติดตามความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิงใน 58 ประเทศ (คิดเป็นเกือบร้อยละ 80 ของแรงงานหญิงทั่วโลก) พิจารณาจากสามองค์ประกอบ ได้แก่ 1) ผลลัพธ์ด้านความก้าวหน้าของสตรี 2) สินทรัพย์ด้านความรู้และการเข้าถึงทางการเงิน และ 3) สภาพที่เอื้อต่อการประกอบกิจการ
20 อันดับประเทศที่ส่งเสริมผู้ประกอบการสตรี
อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา
อันดับ 2 นิวซีแลนด์
อันดับ 3 แคนาดา
อันดับ 4 อิสราเอล
อันดับ 5 ไอร์แลนด์
อันดับ 6 ไต้หวัน
อันดับ 7 สวิตเซอร์แลนด์
อันดับ 8 สิงคโปร์
อันดับ 9 สหราชอาณาจักร
อันดับ 10 โปแลนด์
อันดับ 11 ฟิลิปปินส์
อันดับ 12 ฝรั่งเศส
อันดับ 13 ออสเตรเลีย
อันดับ 14 ไทย
อันดับ 15 เขตปกครองพิเศษฮ่องกง
อันดับ 16 สเปน
อันดับ 17 เดนมาร์ก
อันดับ 18 โปรตุเกส
อันดับ 19 เวียดนาม
อันดับ 20 โคลอมเบีย
สำหรับประเทศนิวซีแลนด์ถูกจัดให้เป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอันดับสองของโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจสำหรับผู้หญิง มาสเตอร์การ์ดเผยดัชนีผู้ประกอบการสตรี (Mastercard Index of Women Entrepreneurs) เป็นฉบับที่สาม เพื่อฉลองให้กับประเทศที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เติบโต ขณะเดียวกันเพื่อส่งสัญญาณให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันที่ยังคงมีอยู่ในสังคม
รายงานนี้ได้ตอกย้ำถึงความสามารถของผู้หญิงในการทำธุรกิจและการมีส่วนร่วมในการทำงานที่มากขึ้นในประเทศที่เปิดกว้างอย่างนิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ประเทศเหล่านี้มีอัตราการสนับสนุนการทำธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่สูงและมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ
ผู้หญิงในประเทศเหล่านี้สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน การให้บริการด้านการเงินและหลักสูตรให้ความรู้ในด้านต่างๆ โดยทั่วไปแล้วประเทศเหล่านี้มีบรรทัดฐานทางสังคมที่ส่งเสริมความสำเร็จของบุคคลที่มีความพยายาม คิดสร้างสรรค์และกล้าได้กล้าเสีย รวมถึงให้โอกาสผู้หญิงอย่างเท่าเทียมในการเป็นผู้นำทางธุรกิจ ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และให้การยอมรับในฐานะผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งร้อยละ 80 จาก 20 อันดับประเทศทั่วโลกที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการสตรี เป็นประเทศที่มีฐานรายได้สูง
จาก 58 ประเทศในดัชนีนี้ มี 8 ประเทศที่มีการเลื่อนอันดับมากกว่า 5 อันดับในแต่ละปี ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีการเลื่อนอันดับเร็วที่สุดและเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน คือ อินโดนีเซีย (+13 อันดับ) ไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน) (+9 อันดับ) และไทย (+5 อันดับ)
จูเลียน โลห์ รองประธานกรรมการบริหารความร่วมมือระหว่างองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด กล่าวว่า “สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการศึกษานี้คือ ความไม่เท่าเทียมทางเพศยังปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วทุกมุมโลกแม้จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา เพราะแม้กระทั่งในประเทศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจก็ยังไม่สามารถผลักดันให้ผู้หญิงเป็นเจ้าของธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ สถานการณ์เช่นนี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสำเร็จของผู้หญิงทั้งทางสังคม อาชีพ เศรษฐกิจและการเมือง ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมในภาพรวม ด้วยเหตุนี้มาสเตอร์การ์ดจึงเดินหน้าสู้กับปัญหานี้ทั่วทุกมุมโลก โดยจัดหาเครื่องมือและโครงข่ายที่จะผลักดันสังคมสู่การเติบโตแบบทั่วถึง และนำเศรษฐกิจดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับทุกคนในทุกที่”
ด้าน แอนน์ แคนส์ รองประธานกรรมการบริหาร มาสเตอร์การ์ด ระบุว่า “ธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของและเป็นผู้นำสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ทำให้ทุกชีวิตดีขึ้น จากการศึกษานี้ มาสเตอร์การ์ดได้ส่องไฟไปสู่กลุ่มที่ไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก เพราะทุกวันนี้ยังมีความไม่เท่าเทียมและการกีดกันที่ดึงรั้งผู้หญิงไว้ มาสเตอร์การ์ดเชื่อว่าความคิดที่ดีเริ่มต้นได้ทุกที่ และถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและองค์กรต่างๆ จะร่วมมือกันผลักดันให้ผู้หญิงได้ก้าวหน้าทางธุรกิจมากขึ้น โดยกำจัดอคติทางเพศและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาและโอกาสทางการเงิน”