สังคมผู้สูงวัยเป็นปรากฏการณ์ที่ทยอยเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก คาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีกว่า 1 ใน 5 ของประชากรโลก ส่งผลให้กลายเป็นกลุ่มคนที่ทรงอิทธิพล เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจสูงวัย และเศรษฐกิจอายุวัฒน์ ขณะที่ไทยก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันตลาดสินค้าบริการผู้สูงอายุในไทย มีมูลค่ากว่า 9 แสนล้านบาท/ปี
คนสูงวัยมีจำนวนแซงวัยหนุ่มสาวในอีก 30 ปี
ทั่วโลกมีประชากรผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกำลังก้าวสู่สังคมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากรายงานวิจัย Getting Older-Our Aging world โดย อิปซอสส์ ประเทศไทย บริษัทด้านการสำรวจและวิจัยตลาด คาดการณ์ว่าระหว่างปี 2523 – 2593 ผู้สูงวัยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว ซึ่งในปี 2593 ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีกว่า 2.1 พันล้านคน คิดเป็น 21% หรือ 1 ใน 5 ของประชากรโลกราว 9.7 พันล้านคน ส่งผลให้ในอีกราว 30 ปีต่อจากนี้ผู้สูงอายุจะมากกว่าเด็กเกิดใหม่ที่มีราว 1.4 พันล้านคน รวมทั้งแซงหน้ากลุ่มวัยรุ่น ช่วงอายุ 10-24 ปีที่มีประมาณ 2 พันล้านคน ซึ่งสถิติดังกล่าวจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่ผู้สูงอายุจะครองเมืองในทุกพื้นที่ของโลก
สำหรับในไทย ข้อมูลจากการศึกษาของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ระบุว่าหลังจากที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing society) ตั้งแต่ปี 2543 ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตราร้อยละ 10 ซึ่งปัจจุบันกลุ่มผู้สูงอายุในไทยมีจำนวนประมาณ 11 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16-17 โดยคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ในปี 2564 ซึ่งจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 20 จากนั้นในปี 2578 ก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (Super Aged Society) โดยมีประชากรสูงอายุถึงร้อยละ 30
จากการขยายตัวของกลุ่มคนสูงอายุทั่วโลก ทำให้จะกลายเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลมากกว่าคนทุกกลุ่ม อีกทั้งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกสู่ “เศรษฐกิจสูงวัย” (Silver Economy) และ “เศรษฐกิจอายุวัฒน์” (Longevity Economy) ผลักดันให้กลายเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งทั่วโลกกำลังจับตาและศึกษาแนวโน้มกัน
ซึ่งจากความต้องการของผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน ตลาดผู้สูงวัยได้เพิ่มความซับซ้อนและมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในอังกฤษมีเม็ดเงิน 3.2 แสนล้านปอนด์ คิดเป็น 47% ของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดมาจากกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะที่ในฝรั่งเศส ผู้สูงวัยมีเงินที่เตรียมไว้ใช้ท่องเที่ยวถึง 22,000 พันล้านยูโร ในญี่ปุ่นเองผู้สูงอายุยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินถึง 1.439 พันล้านล้านเยน นับเป็น 80% ของตลาดการเงินทั้งหมดในปี 2575 ส่วนที่สหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจอายุวัฒน์ (Longevity Economy) หรือมูลค่าตลาดที่รวมทั้งสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัย จะมีสัดส่วนที่ใหญ่กว่าทุกภาคส่วนของตลาดอื่นรวมกัน และในไทย ผู้สูงอายุถึง 95% พร้อมใช้จ่ายสำหรับอาหาร และ 73% พร้อมใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้าสำหรับตัวเอง
60 ไม่ได้แปลว่าแก่
เป็นเวลาช้านานมาแล้วที่ตัวเลข 60 คืออายุที่แปลว่า “แก่” ซึ่งการใช้อายุเป็นเกณฑ์มาจากผลพวงของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อันเป็นวัยที่ต้องเกษียณจากการทำงาน แต่จากรายงานวิจัย Getting Older-Our Aging world ระบุว่าในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันคนบนโลกมองว่าผู้สูงวัยจะเริ่มต้นที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 66 ปี อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศก็มองถึงอายุกับคำว่าสูงวัยต่างกัน ในสเปนมองว่าผู้สูงวัยเริ่มต้นที่อายุ 70 ปี ซึ่งมากที่สุดในโลก แต่คนซาอุดีอาระเบียชี้ว่าอายุ 49 ปีก็แก่แล้ว ถึงอย่างนั้น ผู้สูงอายุบนโลกกลับเห็นด้วยว่าโดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาจะรู้สึกเด็กกว่าอายุจริงถึง 9 ปี ซึ่งในอนาคตอายุเกษียณจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนวัยทำงานจะลดลง และคนมีอายุยืนยาวขึ้น
ส่องพฤติกรรมที่คนสูงอายุไทยชอบ
ขณะเดียวกัน อิปซอสส์ ยังได้มีการสำรวจพบว่า กิจกรรมที่คนสูงวัยชาวไทยชอบทำอันดับ 1 คือ ออกกำลังกาย 56% ตามมาด้วยอันดับ 2 เดินทางท่องเที่ยว 49%, อันดับ 3 การเพาะปลูก 34%, อันดับ 4 เยี่ยมญาติหรือเพื่อน 27% และอันดับ 5 เดินออกกำลังกาย 27%
ส่วนพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้สูงอายุชาวไทยที่ให้ความสำคัญมากที่สุด อันดับ 1 คืออาหาร 95% อันดับ 2 ทานอาหารนอกบ้านในโอกาสพิเศษ 78%, อันดับ 3 ใช้เงินเกี่ยวกับเครื่อง\ใช้ไฟฟ้าในบ้าน 78%, อันดับ 4 เสื้อผ้า 73% และอันดับ 5 ใช้เงินเพื่อการผ่อนคลาย 73%
คาดตลาดสินค้าบริการผู้สูงวัยในไทย มูลค่ากว่า 9 แสนล้านบาท/ปี
ในขณะที่ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจากฐานประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและยังมีอายุยืนขึ้นก็ได้ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุมีแนวโน้มเติบโต โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในปัจจุบันเม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุ คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 9 แสนล้านบาทต่อปี เบื้องต้นคำนวณจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเฉลี่ยอยู่ที่ราว 9,000-10,000 บาท/เดือน ซึ่งครอบคลุมค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่ายา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และค่าใช้จ่ายในบ้าน หากรวมค่าสังสรรค์กับเพื่อนและค่าเดินทางท่องเที่ยวก็อาจจะมีการใช้จ่ายสูงกว่านี้
ยังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2565 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี ตั้งแต่ 300,000 บาทขึ้นไป ซึ่งถือเป็นราย-ได้ที่เกินระดับเพียงพอต่อการดำรงชีพ จะมีประมาณ 5.7 แสนคน หรือมีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของผู้สูงอายุทั้งหมดที่คาดว่าจะมีกว่า 13.61 ล้านคน ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีต่ำกว่า 300,000 บาท จะมีสัดส่วนสูงถึง 95-96% ทั้งนี้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่เดิมพึ่งพาลูกหลานในการเป็นแหล่งรายได้หลัก ก็อาจมีความสามารถที่จะพึ่งพาลูกหลานได้น้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากสังคมไทยมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น และหลายครอบครัวก็เลือกที่จะไม่มีบุตรหรืออยู่เป็นโสด ทำให้ต้องพึ่งพารายได้จากการทำงาน เงินออมของตน รวมทั้งสวัสดิการจากภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ท้ายสุดอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการที่ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์นั้น ความต้องการของผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเปลี่ยนไปจากอดีต ผู้สูงอายุซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่นับวันจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และกำลังเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคใดในการใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลาย ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ภายใต้กำลังซื้อที่ยังไม่สูงมากนักของประชากรผู้สูงอายุไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ไปแล้วก่อนหน้าไทย
ไทยรั้งท้ายดัชนีเงินบำนาญโลก
จากการเปิดเผยถึงรายงานดัชนีเงินบำนาญระดับโลก ปี 2562 โดยบริษัท เมอร์เซอร์ เมลเบิร์น (MMGPI) พบว่า ไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบรายได้หลังเกษียณ มีดัชนีเงินบำนาญอยู่ที่ 39.4 รั้งท้ายในอันดับที่ 37 โดยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ระดับ 59.3 อีกทั้งยังต่ำกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้ง สิงคโปร์ (อันดับ 7, 70.8), มาเลเซีย (อันดับ 16, 60.6), อินโดนีเซีย (อันดับ 27, 52.2) และฟิลิปปินส์ (อันดับ 34, 43.7) ขณะเดียวกันค่าดัชนีย่อย ด้านความเพียงพอของไทย ยังอยู่ในอันดับสุดท้าย ด้วยค่าดัชนี 38.5 ส่วนด้านความยั่งยืน อยู่ที่ 38.8 และด้านความน่าเชื่อถือ ที่ 46.1
สำหรับประเทศค่าดัชนีสูงสุดเป็นอันดับ 1 คือ เนเธอร์แลนด์ โดยอยู่ที่ 81.0 นับว่าครองอันดับต้นๆ อย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่มีการจัดทำรายงานนี้มา สำหรับค่าดัชนีย่อย พบว่า ไอร์แลนด์ มีค่าดัชนีความเพียงพอสูงสุด อยู่ที่ 81.5 ส่วนเดนมาร์ก มีค่าดัชนีความยั่งยืนสูงสุด ที่ 82.0 ในขณะที่ฟินแลนด์ มีค่าดัชนีความน่าเชื่อถือสูงสุด ที่ 92.3 ในส่วนค่าดัชนีย่อยต่ำสุดนั้น นอกจากไทยดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว อิตาลีเป็นประเทศที่มีค่าดัชนีความยั่งยืนต่ำสุด 19.0 และฟิลิปปินส์ ค่าดัชนีความน่า เชื่อถือต่ำสุดที่ 34.7
ดร. เดวิด น็อกซ์ จากบริษัท เมอร์เซอร์ ผู้เขียนรายงานดังกล่าว กล่าวถึงปัญหาที่ระบบต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกันคือ อายุขัยของประชากรที่ยืนยาวมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันในการบริหารจัดการระบบสวัสดิการพื้นฐานของภาครัฐ เพื่อดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชากรสูงอายุ ผู้กำหนดนโยบายจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงจุดแข็งและจุดด้อยในระบบของตนเองอย่างถี่ถ้วนเพื่อผลสำเร็จในระยะยาวสำหรับผู้เกษียณอายุในอนาคตนั่นเอง
รายงานฉบับนี้มีข้อมูลครอบคลุมประชากรถึงเกือบ 2 ใน 3 ของโลก โดยเน้นให้เห็นถึงความแตกต่างของระบบบำนาญที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก รวมถึงระดับของสินทรัพย์บำนาญที่มีผลกระทบกับระดับหนี้ครัวเรือน นอกจากนี้ยังรวบรวมรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากความมั่งคั่ง เช่น แนวโน้มในการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นตามระดับความมั่งคั่งที่เกี่ยวเนื่องกับสินทรัพย์บำนาญ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเมื่อสินทรัพย์บำนาญเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้คนมีความรู้สึกมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่อแนวโน้มในการกู้ยืมที่มากขึ้นอีกด้วย โดยได้มีข้อแนะนำครอบคลุมถึงการกระตุ้นหรือกำหนดระดับเงินออมให้สูงขึ้นสำหรับอนาคต เป็นต้นว่า เพิ่มอายุการเกษียณงานของภาครัฐอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเปิดโอกาสหรือจูงใจให้ประชากรยืดอายุการทำงานออกไปอีกสักระยะ
คุณจักรชัย บุญยะวัตร – ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอร์เซอร์ ประเทศไทย จำกัด
“ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีการพัฒนานโยบายที่หลากหลายเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญให้ประชาชนในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือกลุ่มพนักงานสัญญาชั่วคราว อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เข้าร่วมยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก และเราคาดหวังว่าจำนวนเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต”