ปี 2562 นับเป็นปีแห่งความสำเร็จของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่นอกจากจะสามารถผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค ระยะทางรวม 16 กม. ให้เปิดใช้บริการได้อย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562
MRT สีน้ำเงินโครงข่ายสมบูรณ์มีนาคม 63
ล่าสุด 4 ธันวาคม 2562 รฟม. ยังได้ร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน – ท่าพระ ระยะทาง 11 กม. โดยช่วงแรกเปิดทดลองก่อน ใน 4 สถานี ได้แก่ สถานีบางโพ สถานีบางอ้อ สถานีบางพลัด สถานีสิรินธร ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2562
ส่วนที่เหลือ สถานีบางยี่ขัน สถานีบางขุนนนท์ สถานีไฟฉาย และสถานีจรัญฯ 13 ทาง รฟม. และ BEM จะทยอยปรับการให้บริการไปตามความก้าวหน้าของงานและความพร้อมของระบบที่เกี่ยวข้องไปจนถึงระดับการให้บริการตามปกติ เช่น การขยายจำนวนสถานีให้บริการไปจนถึงสถานีท่าพระ หรือการเดินรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องครบลูปทั้งเส้นทางสายสีน้ำเงิน และพร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบและจัดเก็บค่าโดยสารตามปกติจากสถานีเตาปูน-สถานีท่าพระ ภายใน 30 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
ในปี 2563 รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินจะเชื่อมโยงกันเป็นโครง-ข่าย Circle Line ทำให้เกิดการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี โดยมีสถานีท่าพระ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกท่าพระคร่อมอุโมงค์ทางลอดและสะพานข้าม แยกท่าพระ เป็นสถานีร่วม หรือ Interchange Station สามารถเปลี่ยนถ่ายการเดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินได้อย่างรวดเร็ว และยังมีสถานีเตาปูน เป็น Interchange Station ที่ทำให้การเดินทางเชื่อมต่อระหว่าง MRT สายสีน้ำเงิน และ MRT สายสีม่วง สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งประชาชนจะได้รับความสะดวกจากการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระจายรายได้ไปสู่พื้นที่และโครงการต่างๆ ตลอดแนวเส้นทาง
จัดโปรโมชั่นลดค่าโดยสาร MRT ม่วง-น้ำเงิน
นอกจากนั้น รฟม. ยังมี มาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง โดยจะเก็บค่าโดยสารในอัตรา 14 – 20 บาท ตลอดทั้งวัน (05.30 น. – 00.00 น.) จากเดิมที่เก็บในอัตรา 14 – 42 บาท สำหรับผู้เดินทางเชื่อมระหว่าง MRT สายสีน้ำเงิน และ MRT สายสีม่วง จะเก็บอัตราค่าโดยสารสูงสุด 48 บาท/เที่ยว โดย รฟม.จะสรุปรายละเอียด เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังปี 2561 มาตรา 27 กำหนดให้เสนอ ครม. อนุมัติ กรณีที่มีผลทำให้รัฐมีรายได้ลดลง เมื่อผ่านความเห็นชอบ คาดว่าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป มีระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน
เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายการลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนตามนโยบายภาครัฐ อีกทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น และเพื่อช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง รวมถึงลดปัญหามลพิษทางอากาศ
รฟม. ลุยงานโยธาสายสีเขียวเสร็จสมบูรณ์
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ระยะทาง 19 กม. จำนวน 16 สถานี ที่มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อจากสถานีหมอชิตของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร หรือ BTS และสิ้นสุดที่บริเวณคูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี นั้น รฟม. ได้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 100% และได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ให้สามารถเปิดบริการได้เร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดเปิดปี 2564
โดยระยะแรกในเดือนสิงหาคม 2562 ได้เปิดให้บริการสถานีห้าแยกลาดพร้าวก่อน 1 สถานี ต่อมา 4 ธันวาคม 2562 เปิดให้บริการเพิ่มอีก 4 สถานี ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 24 สถานีรัชโยธิน สถานีเสนานิคม และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจะเปิดให้บริการสถานีที่เหลืออีก 11 สถานี ได้แก่ จากสถานีกรมป่าไม้ จนถึงสถานีคูคต ภายในปี 2563 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน และบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัด
เร่งสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลชมพู-เหลือง
สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ระยะทางรวมประมาณ 34.5 กิโลเมตร มี 30 สถานี และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ระยะทางรวมประมาณ 30.4 กิโลเมตร มี 23 สถานี รฟม. ได้คุมการก่อสร้างให้ป็นไปตามแผนงาน และทันต่อกำหนดเปิดให้บริการในปี 2564
เมื่อสร้างเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ ทั้ง 2 เส้นทางจะเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือโมโนเรล 2 สายแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรองที่มีจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนระบบหลัก ช่วยเชื่อมโยงการเดินทางจากพื้นที่รอบนอกเข้าสู่ใจกลางเมืองได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ Heavy Rail System ระยะทางประมาณ 22.57 กม. จำนวน 17 สถานี ตามแผนงานมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2567 ถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่เชื่อมโยงกรุงเทพฝั่งตะวันออกสู่ใจกลางเมือง ทั้งยังเป็นเส้นทางที่จะเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ขยายรถไฟฟ้าใน กทม.- ตจว. อีก 6 โครงการ
นอกจากนั้น รฟม. ยังเตรียมจะดำเนินการขยายโครงข่ายเพิ่มเติมอีก 2 โครงการ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทางรวมประมาณ 13.4 กม. ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติดำเนินโครงการฯ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2564 มีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2569 ส่วนอีกโครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา มีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2569
โครงการรถไฟฟ้าในเมืองหลักภูมิภาค อีก 4 จังหวัด ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กิโลเมตร มีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2568 โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ (สายสีแดง) ช่วงโรง-พยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร มีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2570 โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา (สายสีเขียว) ช่วงตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร มีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2568 โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก (สายสีแดง) ช่วง ม.พิษณุโลก-ห้างเซ็นทรัลฯ พิษณุโลก ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร มีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2569