ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำรายงานเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำไทย ทำไมไม่เท่าเทียม” ซึ่งเป็นการศึกษาด้านโครงสร้างเศรษฐกิจไทย (Thematic studies) โดยสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีหลายมิติ และเป็นหนึ่งในความท้าทายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย
โดยรายงานแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อการศึกษา งานศึกษาแรก คือ “ภาพรวมความเหลื่อมล้ำของไทยในศตวรรษที่ 21” ซึ่งพบว่า ภาพรวมความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยปรับดีขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งจากรายงานของ World Economic Forum (2018) ชี้ว่าระดับความไม่เสมอภาคของไทยสูงเป็นอันดับที่ 25 จาก 107 ประเทศทั่วโลก สูงกว่าเวียดนาม (อันดับ 29), สิงคโปร์ (อันดับ 36), อาร์เจนติน่า (อันดับ 45), ญี่ปุ่น (อันดับ 87) อีกทั้งความแตกต่างของรายได้โดยเฉลี่ยระหว่างกลุ่มประชากรหัวแถวที่มีรายได้สูงที่สุดร้อยละ 20 และกลุ่มประชากรท้ายแถวที่มีรายได้ต่ำที่สุดร้อยละ 20 สูงถึง 10.3 เท่าในปี 2015 และกลุ่มรายได้สูงสุดมีรายได้รวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด และหากพิจารณาในมิติของจำนวนคนจน พบว่า กว่าร้อยละ 50 ของคนจนทั้งประเทศ อยู่ในภาคเกษตร ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากนัก
ขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ยังคงอยู่ในระดับสูงหรือปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลในรายงาน The Inclusive Development Index 2018 ของ World Economic Forum ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง ของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ต่อระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2013-2018) และติดเป็นลำดับที่ 10 ของประเทศ ที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงที่สุดจากทั้งหมด 107 ประเทศทั่วโลก
ส่วนความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาสยังอยู่ ในระดับสูง พิจารณาจากการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตของครัวเรือน การสำรวจปี 2017 พบว่า ครัวเรือนไทยที่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 24.8 และ 64.4 ตามลำดับ โดยอัตราการเข้าถึงสิ่งจำเป็นนี้แตกต่างกันตามรายได้ของครัวเรือน นอกจากนี้ยังคงเห็นความเหลื่อมล้ำ ด้านโอกาสทางการศึกษาในเชิงพื้นที่ ซึ่งพิจารณาจากระดับคะแนน PISA ของนักเรียนระดับมัธยมที่แยกตามภูมิภาค พบว่าคะแนนของนักเรียนจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญในทุกสาขาวิชา ซึ่งความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต
งานศึกษาที่สอง คือ “ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ และนัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย” ซึ่งจากรายงานของ OECD (2018) พบว่า พื้นที่ในหลายภูมิภาคมีรายได้ต่อหัวที่ต่ำกว่ากรุงเทพฯ มาก โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าถึง 9 เท่า และในระยะยาวความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่จะส่งผลต่อความเข้มแข็งในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ซึ่งความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ของไทยทั้งมิติด้านรายได้ และสังคมดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงเป็นประเด็นที่น่ากังวล โดยไทยมีการเติบโตอย่างกระจุกตัวในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑลเป็นหลัก ในมิติของโอกาสในการสร้างรายได้มีความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯ และภูมิภาคอื่นสูง รวมถึงในมิติด้านสังคมโดยเฉพาะการศึกษา และการจ้างงาน ก็ยังมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างพื้นที่
โดยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพากรุงเทพฯ อย่างมาก โดยความเจริญทางเศรษฐกิจ มักเกิดขึ้นในลักษณะของการแผ่ขยายจากศูนย์กลางเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ออกไปบริเวณในพื้นที่ใกล้เคียงเรื่อยๆ จากอิทธิพลของ Agglomeration effect หรือผลของการประหยัดจากการรวมกลุ่ม ในขณะที่หัวเมืองในต่างจังหวัดโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่สามารถช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในภูมิภาค และประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างของรูปแบบการเจริญเติบโต ระหว่างพื้นที่ของไทยนี้สามารถอธิบายได้ด้วยหลายปัจจัย โดยปัจจัยด้านภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดระดับการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ได้ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยด้านคุณภาพทุนมนุษย์ และปัจจัยด้านสถาบัน ก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาของพื้นที่ต่างๆ เช่นกัน
งานศึกษาที่ 3 “ความเหลื่อมล้ำมิติอาชีพของไทย: กรณีศึกษาในอาชีพเกษตร” ซึ่งจากการศึกษาด้วยข้อมูลเชิงปริมาณ และคุณภาพพบว่า ครัวเรือนเกษตรกรเป็นกลุ่มที่ควรได้รับ การดูแลเป็นอันดับแรกๆ เนื่องจากมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงเป็นอันดับต้นๆ ขณะเดียวกันมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และเป็นอาชีพของครัวเรือนส่วนใหญ่ของไทย ซึ่งครัวเรือนเกษตรมีรายได้สุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 16,000 บาทต่อเดือน ซึ่งร้อยละ 60 มีรายได้สุทธต่อเดือนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาชีพ นอกจากนี้ครัวเรือนเกษตรกรต้องเผชิญกับภาวะที่หัวหน้าครัวเรือนมีอายุมาก และการศึกษาน้อยซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการยกระดับรายได้โดยเห็นได้จากผู้หารายได้หลักของครัวเรือนเกษตรกรมีอายุอยู่ในช่วง 40 – 60 ปี ขณะที่ระดับการศึกษาของครัวเรือนเกษตรกรจะไม่เกินระดับชั้นประถมศึกษา
ซึ่งนอกจากการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแล้ว การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น และปัจจัยการผลิตสำคัญอย่างที่ดินทำกิน การปรับตัวในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงไปก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่า ปัจจัยอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการเกษตร การพัฒนาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ตลอดจน แพลตฟอร์มข้อมูลกลางที่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จนถึงการตลาดอย่างครบถ้วน ควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่เกษตรกรให้ได้น้าข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำแก่ครัวเรือนเกษตรกร