Friday, May 26, 2023
More

    กทม.ตรวจสอบปั้นจั่น-ลิฟต์โครงการก่อสร้างทั่วกรุง เพื่อความปลอดภัย และลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ

    จากกรณีที่เกิดเหตุปั้นจั่นล้มบ่อยครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน เพื่อเป็นการป้องกัน และลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุปั้นจั่นล้ม กรุงเทพมหานครจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจโครงการก่อสร้าง เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุปั้นจั่นระหว่างปฏิบัติงาน ตามคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 1603/2562

    ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักการโยธา กรมโยธาธิการและผังเมือง ประธานกลุ่มเขต วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ คณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย และมูลนิธินายช่างไทยใจอาสา ร่วมกันตรวจสอบความปลอดภัยของปั้นจั่นในโครงการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร เพื่อให้ปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และคู่มือการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย โดยคณะทำงานฯ ได้ร่วมกันกำหนดรายละเอียดในแบบรายงานตรวจสอบปั้นจั่นในการก่อสร้าง จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ ปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane) ปั้นจั่นเดอร์ลิค (Derrick Crane) และรถปั้นจั่น (Mobile Crane) รวมทั้งลิฟต์โดยสารซึ่งผ่านความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว


    โดยล่าสุดนายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบปั้นจั่น ลิฟต์ส่งของ และลิฟต์โดยสาร โดยมีนายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจสอบ ณ โครงการก่อสร้างอาคารชุดอยู่อาศัย รายบริษัท เอพี เอ็มอี 3 จำกัด สถานที่ก่อสร้างบริเวณถนนอโศกดินแดง แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี และโครงการก่อสร้างอาคารชุดอยู่อาศัย รายบริษัท อนันดา เอเชีย พระรามเก้า จำกัด สถานที่ก่อสร้างบริเวณถนนอโศกดินแดง แขวงดินแดง เขตดินแดง

    ซึ่งคณะทำงานฯ ได้กำหนดให้มีการตรวจสอบปั้นจั่นและลิฟต์ส่งของ จำนวน 2 โครงการดังนี้

    1.โครงการก่อสร้างอาคารชุดอยู่อาศัย Life Asoke-Rama 9 รายบริษัท เอพี เอ็มอี 3 จำกัด สถานที่ก่อสร้างบริเวณถนนอโศกดินแดง แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการก่อสร้างอาคาร 1 หลัง ความสูง 40 ชั้น จำนวน 1,253 ห้อง มีเฉพาะปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane) จำนวน 3 ตัว และลิฟต์ส่งของ

    2.โครงการก่อสร้างอาคารชุดอยู่อาศัย ASHTON Asoke-Hype รายบริษัท อนันดา เอเชีย พระรามเก้า จำกัด สถานที่ก่อสร้างบริเวณถนนอโศกดินแดง แขวงดินแดง เขตดินแดง ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการก่อสร้างอาคาร A ความสูง 49 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 หลัง ก่อสร้างอาคาร B ความสูง 45 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 หลัง ที่จอดรถ 400 คัน มีปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane) จำนวน 3 ตัว และลิฟต์ส่งของ ในปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 121 โครงการ แบ่งออกเป็น ปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane) จำนวน 232 ตัว ปั้นจั่นเดอร์ลิค (Derrick Crane) จำนวน 5 ตัว และรถปั้นจั่น (Mobile Crane) จำนวน 27 ตัว ทั้งนี้สำนักการโยธาร่วมกับคณะทำงานฯ จะดำเนินการตรวจสอบให้ครบทุกโครงการต่อไป

    สำหรับแนวทางการตรวจสอบ สำนักการโยธาได้กำหนดแนวทางการตรวจสอบปั้นจั่นฯ ในโครงการก่อสร้างดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร ในกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (..2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ..2522 ดังนี้

    1.หากไม่ได้มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาปั้นจั่นที่ใช้ในการก่อสร้างลิฟต์ส่งของและลิฟต์โดยสารให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมและปลอดภัยกับการใช้งาน

    2.หากไม่ใช้โซ่เชือกลวดสลิงรอกที่ใช้งานปั้นจั่นหรือลิฟต์ส่งของที่มีสภาพแข็งแรงและมีขนาดพอที่จะใช้ในการยกการวางและยกน้ำหนักสิ่งของให้ลอยตัวอยู่ในจุดใดได้โดยปลอดภัย

    3.เมื่อหยุดการใช้ปั้นจั่นหรือลิฟต์ส่งของประจำวันผู้ดำเนินการไม่จัดให้มีการป้องกันมิให้ปั้นจั่นหรือลิฟต์ส่งของนั้นเลื่อนล้มหรือหมุนอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สิน

    4.ไม่จัดให้มีผู้ควบคุมที่มีความชำนาญควบคุมการใช้ปั้นจั่น ลิฟต์ส่งของและลิฟต์โดยสาร นายช่างหรือนายตรวจจะต้องรายงานให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบ และแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ..2522

    ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวว่า กรุงเทพมหานครพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบปั้นจั่น ลิฟต์ส่งของ และลิฟต์โดยสารโครงการก่อสร้างอาคารชุดอยู่อาศัย Life Asoke-Rama 9 เขตราชเทวี และโครงการก่อสร้างอาคารชุดอยู่อาศัย ASHTON Asoke-Hype สืบเนื่องมาจากกรณีเกิดเหตุปั้นจั่นล้มบ่อยครั้งซึ่งแต่ละครั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุปั้นจั่นล้มและให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

    โดยที่ผ่านมาสำนักการโยธา ร่วมกับอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย ในคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้ดำเนินการอบรมเกี่ยวกับการใช้งาน ปั้นจั่นหอสูง ปั้นจั่นเดอร์ลิค รถปั้นจั่น และลิฟต์ก่อสร้าง ให้แก่เจ้าหน้าที่ของสำนักการโยธา และฝ่ายโยธาเขต 50 สำนักงานเขตที่ปฏิบัติงานด้านควบคุมอาคารเพื่อให้การดำเนินงานของผู้ปฏิบัติงานด้านควบคุมอาคารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนำความรู้ไปใช้ตรวจสอบควบคุมและแนะนำการใช้งานปั้นจั่นแก่ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องให้ใช้งานปั้นจั่นได้อย่างปลอดภัย

    ทั้งนี้สำนักการโยธามีโครงการอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคู่มือการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย โดยจะเชิญผู้ประกอบการโครงการก่อสร้างหรือเจ้าของโครงการเข้าร่วมอบรม เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยเป็นไปในรูปแบบเดียวกัน