Wednesday, May 24, 2023
More

    ไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทะลุเป้า 45.68 ล้านตัน หรือเท่ากับ 12% ภายในปี 62

    พล..สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจน เช่น กรณีการเกิดพายุปาบึกในภาคใต้ หรือแม้แต่ภัยพิบัติอย่างน้ำท่วม และภัยแล้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญ และตื่นตัวในการวางแนวทางป้องกันและแก้ไข โดยเฉพาะการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหา

    โดยที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 ประเทศไทย ได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมความตกลงปารีส ซึ่งเป็นกลไกภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันมีรัฐภาคีเข้าร่วมจำนวน 184 ประเทศ และได้จัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (National Determined Contribution: NDC) โดยพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้คำมั่นต่อนานาชาติว่าประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเฟสแรกให้ได้อย่างน้อย 7% ภายในปี 2563 และลดให้ได้ 20-25% ภายในปี 2573


    ซึ่งหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป้าหมายแล้ว ประเทศไทยก็ได้มีการดำเนินงานภายใต้มาตรการต่างๆ โดยเฉพาะในภาคพลังงาน และการขนส่ง ซึ่งเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของประเทศ เช่นการประหยัดไฟ การใช้อุปกรณ์ติดฉลากเบอร์ 5 และการใช้พลังงานทดแทน ส่งผลให้ปัจจุบันไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 45.68 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเท่ากับ 12% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ประกาศไว้

    โดยหลังจากนี้จะเร่งเดินหน้ามาตรการอื่นๆ เช่นการลงทุนก่อสร้างระบบขนส่งทางรางเพิ่มอีก 2,000 กม. มีทั้งระบบรถไฟทางคู่ 32 เส้นทาง ระบบรถไฟฟ้า ระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดการปล่อยมลพิษในอนาคต

    นอกจากนี้ยังมีแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือป่าไม้ให้ได้ไม่น้อยกว่า 55% ของพื้นที่ประเทศ ภายในปี 2580 จากพื้นที่ปัจจุบันซึ่งมีพื้นที่ป่า 32% ของประเทศ หรือประมาณ 102.4 ล้านไร่ โดยจะดำเนินการปกป้องป่าจำนวนนี้เอาไว้ ไม่ให้ถูกตัดอีกแม้แต่นิดเดียว และใช้มาตรการต่างๆ เข้ามาเสริมในการเพิ่มพื้นที่ป่า เช่น การผลักดันการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ เพื่อสนับสนุนการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า และสนับสนุนการปลูกป่าชุมชน เป็นต้น ดังนั้นจึงมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเฟสที่ 2 คือ 20-25% ภายในปี 2573 ได้ โดยคาดว่าจะทำได้ถึง 28% หรือเกินกว่าเป้าหมายอย่างแน่นอน

    ทางด้าน นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่านอกจากภาคการพลังงานและการขนส่งแล้วยังมีภาคการเกษตรอุตสาหกรรมและของเสียซึ่งครอบคลุมทั้งของเสียชุมชนและของเสียโรงงานที่เป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง

    ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ จึงมีมติเห็นชอบแผนที่นำทาง แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564 – 2573 ในสาขาต่างๆ โดยคาดว่าเมื่อถึงปี 2573 ประเทศไทยจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 156.86 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ 28.2%

    อย่างไรก็ตามมีข้อมูลพบว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด อันดับที่ 21 ของโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน ในสัดส่วน 0.9% โดยประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกได้แก่จีนรองลงมาคือสหรัฐอเมริกา

    ซึ่งภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประเทศไทย คือภาคพลังงาน ซึ่งรวมไปถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสียรถยนต์ และโรงไฟฟ้า ในสัดส่วน 70% รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม 10% และภาคการเกษตร 10%