นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานโครงการชิมช้อปใช้ โดยระบุว่า โครงการชิมช้อปใช้ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก จากยอดลงทะเบียนรับสิทธิ์ ทั้งเฟส 1 – 3 ที่เปิดให้ลงทะเบียนเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็เต็มตามจำนวนที่กำหนดไว้ในแต่ละวัน
รวมถึงร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ มีปริมาณมากเพียงพอ ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมบริการ และกระจายทุกภูมิภาคของประเทศซึ่งมีมากกว่า 170,000 ราย ส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายผ่านกระเป๋า G-Wallet 2 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยตลอดระยะเวลาของโครงการ มียอดใช้จ่ายมากกว่า 28,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าแรก 11,500 ล้านบาท และผ่านกระเป๋า G-Wallet 2 มากกว่า 17,000 ล้านบาท จากประชาชนที่รับสิทธิ์ทั้งสิ้น 12.6 ล้านคน และมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ 170,000 ราย
ซึ่งจากการแจกรางวัล “ชิมช้อปใช้ลุ้นโชคใหญ่” ให้กับผู้ใช้จ่ายผ่านกระเป๋า G-Wallet 2 ระหว่างวันที่ 27 กันยายน 2562 – 31 มกราคม 2563 มีจำนวนสิทธิ์ในการลุ้นรางวัลมากกว่า 12 ล้านสิทธิ์ โดยนับจากยอดการใช้จ่ายสะสมทุกๆ 1,000 บาท รับ 1 สิทธิ์ ซึ่งยอดผู้รับสิทธิ์ที่ร่วมลุ้นรางวัลในทุกสัปดาห์ ตลอด 5 ครั้งที่ผ่านมา มีจำนวนมากกว่า 4 แสนสิทธิ์ต่อครั้ง
สำหรับรางวัลชิมช้อปใช้ลุ้นโชคใหญ่ ครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายของโครงการ นอกจากรางวัลรถยนต์ TOYOTA Altis (limo) และรถกระบะ TOYOTA Hilux Revo แล้ว ยังมีรางวัลอื่นๆ แบ่งเป็นรางวัลของผู้ใช้จ่ายผ่านกระเป๋า G-Wallet 2 จำนวน 74 รางวัล และเป็นรางวัลสำหรับร้านค้า 17 รางวัล
ทั้งนี้ โครงการชิมช้อปใช้ เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ และกระจายรายได้สู่ฐานรากของประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับประชาชนในการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันสังคมไร้เงินสดตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล
อย่างไรก็ตามล่าสุด นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาจัดทำโครงการชิมช้อปใช้ ระยะ 4 โดยหากออกมาจะเริ่มใช้ได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น แต่การค้าก็ยังไม่แน่นอน อีกทั้งมีปัจจัยเสี่ยงใหม่จากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องพิจารณามาตรการออกมาเพิ่ม ซึ่งขณะนี้ชิมช้อปใช้เฟส 4 ยังอยู่ในการพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม
ซึ่งจากการประเมินผลมาตรการชิมช้อปใช้ ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ในการใช้งบประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท เพราะสามารถช่วยดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศให้หมุนเวียนได้ ขณะที่ผู้ประกอบการรายกลาง และรายเล็กในพื้นที่ต่างๆ ก็ค้าขายไปได้ด้วย และยังเป็นผลดีกับภาคการท่องเที่ยวด้วย
นอกจากนี้โครงการชิมช้อปใช้ ยังช่วยสนับสนุนให้คนไทยกว่า 12 ล้านคน เข้ามาใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม โดยคลังจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ พิจารณาออกนโยบายดูแลเศรษฐกิจ ประชาชนและผู้ประกอบการในระยะต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ