สำนักข่าว CNN เผยรายงานเกี่ยวกับเกาะลิบง จ.ตรัง ว่าเป็นสวรรค์สำหรับประชากรพะยูนในประเทศไทยที่ถูกคุกคาม ผ่านทางเว็บไซต์ในหมวด Travel พร้อมกับระบุว่า ผู้มีชื่อเสียงบนโลกอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำ และมีจมูกคล้ายกับหัวดูดฝุ่น
ทั้งยังเปิดเผยถึงเรื่องราวของ “มาเรียม” โดยระบุว่า มาเรียมคือซุปเปอร์สตาร์พะยูนทารกสีเทาชมพู ที่ได้รับการช่วยเหลือจากคนในท้องถิ่น จ.กระบี่ จากนั้นสัตวแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยได้ทำการเข้าช่วยเหลือ และย้ายมาเรียมไปยังเกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งเป็นเกาะในทะเลอันดามัน ที่มีประชากรพะยูนประมาณ 70% อาศัยอยู่รอบเกาะเนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นอาหารหลักของพะยูน
ซึ่งจากการนำเสนอข่าวของมาเรียมในสำนักข่าวต่างๆ ส่งผลให้องค์กร หน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจ และเพิ่มเงินทุนสำหรับการอนุรักษ์พะยูนในประเทศไทย และมีการออกกฎหมายที่เป็นมิตรกับสัตว์ทะเล เช่น การห้ามผู้ค้าปลีกชาวไทยแจกถุงพลาสติกตั้งแต่เดือนมกราคา 2563 เป็นต้นไป
แต่เมื่อมาเรียมได้เสียชีวิตลง จากอาการติดเชื้อ และพบพลาสติกในช่องท้อง เมื่อเดือนสิงหาคม เกาะลิบง ก็ได้ค่อยๆ ห่างหายไปจากความสนใจของคนไทย
ในขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่เกาะลิบง ได้ตั้งกลุ่มสำหรับรายงานการพบเห็นของสัตว์บริเวณชายหาด เนื่องจากพะยูนมักจะขึ้นมาเกยตื้นบริเวณชายหาดเป็นประจำ รวมถึงรัฐบาลไทย ได้ส่งสัญญาณเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกด้วยแผนการอนุรักษ์ ที่เรียกว่า “The Marium Project”
โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ต้องการให้ประชากรพะยูนในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 200 ตัว เป็น 400 ตัว และอาจมีการสั่งห้ามอุปกรณ์การประมงที่เป็นอันตรายต่อประชากรพะยูนในเขตน่านน้ำเกาะลิบง
ซึ่งขณะนี้เกาะลิบง ก็ยังคงเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับพะยูนไทย รวมถึงมาเรียมก็ได้กลายเป็นทูต ที่เชื่อมความผูกพันระหว่างคนในพื้นที่กับพะยูนอีกด้วย
อย่างไรก็ตามล่าสุด นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ได้นำเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ตัวแทนประมงพื้นบ้าน และ นายณัฐวัฒน์ ทะเลลึก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง ร่วมกันนำทุ่นจำนวน 14 ลูกออกไปวางบริเวณแนวเขตหญ้าทะเลพื้นที่บ้านมดตะนอยซึ่งมีแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่และถิ่นหากินและอาศัยสำคัญของพะยูนในทะเลตรัง
โดยสามารถวางได้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ เพื่อกำหนดพื้นที่คุ้มครองแหล่งหญ้าทะเล คุ้มครองพะยูน ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการทำประมง การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าทางทะเล พร้อมเดินหน้าบริหารจัดการคุ้มครองพื้นที่ให้เข้มข้นอย่างเป็นระบบ และครอบคลุม เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรชายฝั่ง และสัตว์ทะเลหายากประเภท เต่าทะเล โลมา และพะยูน
โดยเฉพาะพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดกว่า 180 ตัว ที่อาศัยอยู่ในทะเลตรัง บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์ เมื่อปี 2545 และได้รับการประกาศเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน เมื่อปี 2562 เพื่อลดอัตราการตายของพะยูน คงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งทะเลตรัง และสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์พะยูนให้อยู่คู่กับทะเลตรังตลอดไป ตลอดจนรองรับการผลักดันแผนพะยูนแห่งชาติของรัฐบาล
ซึ่งการวางทุ่นในบริเวณพื้นที่บ้านมดตะนอย จำนวน 14 ทุ่น เป็นไปตามแผนบริหารจัดการพื้นที่ให้หมดครอบคลุมหญ้าทะเล 18,000 ไร่ โดยขณะนี้เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ดำเนินการไปแล้วประมาณ 4,000 ไร่ แต่ได้กำหนดแผนการจัดการจะให้ครอบคลุมแหล่งหญ้าทะเลทั้งหมดในปี 2564 โดยสิ่งที่ได้คือ จะได้เห็นแนวเขตหญ้าทะเลอย่างชัดเจน และรู้พื้นที่ขอบเขตแหล่งอาศัยหากินของพะยูน เต่า โลมา สัตว์ทะเลหายาก จะได้ระมัดระวังการใช้เครื่องมือประมง ทั้งนี้ หากพะยูนตายปีละไม่เกิน 5 ตัวต่อปี ปริมาณการเกิดไม่ต่ำกว่า 10 ตัวต่อปี จะทำให้พะยูนในทะเลตรังเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเขตห้ามล่าฯ เอง จะพยายามดูแลปกป้องพะยูนไม่ให้ตายเกิน 3 ตัวต่อปี
ทางด้าน นายวิชญุตร์ ลิมังกูร นักสื่อความหมายธรรมชาติทางทะเล กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการดูแลทรัพยากรทางทะเลกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก โดยจะเก็บข้อมูลการวางทุ่นว่า สามารถป้องกันภัยคุกคามที่จะเกิดกับพะยูนได้อย่างไรบ้าง เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปถอดบทเรียนมาเรียมโปรเจกต์ กำหนดทิศทางการดูแลพะยูนทั้งในขณะเกยตื้น และแผนงานโครงการระยะยาวในการดูแลสัตว์ทะเลหายาก เพื่อนำไปผลักดันตามแผนพะยูนแห่งชาติ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป