Friday, December 1, 2023
More

    ตลาดขนส่งพัสดุเดือด!! คาดปี 63 เติบโต 35% รับเทรนด์ช้อปปิงออนไลน์

    จากพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่นิยมซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ยอดจัดส่งพัสดุโดยรวมมี แนวโน้มสูงขึ้นเป็นกว่า 4 ล้านชิ้นต่อวัน คาดปี 2563 ธุรกิจขนส่งพัสดุของไทยจะเติบโตต่อเนื่องราว 35% เป็น 6.6 หมื่นล้านบาท


    ยอดขนส่งไทยพุ่ง 4 ล้านชิ้นต่อวัน

    จากการประเมินของ Euro monitor ระบุว่า ตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุ มีการเติบโตต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) ขยายตัวเฉลี่ย 40% ต่อปี สอดคล้องกับตลาด E-commerce ของไทยที่เติบโตเฉลี่ย 18% ต่อปี

    โดยการเติบโตดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่นิยมการซื้อสินค้าผ่านแพลต- ฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทั้งเว็บไซต์ E-commerce รายใหญ่ เช่น ลาซาดา (Lazada), ชอปปี (Shopee), เจดี เซ็นทรัล (JD Central), ไพรซ์ซ่า (Priceza) และการค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook, Line, Instagram รวมถึงในหน้าเว็บไซต์ของแต่ละร้านค้าเอง

    ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) คาดการณ์ว่า การขนส่งพัสดุในปี 2563 จะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านชิ้นต่อวัน ขยายตัวจากปี 2562 เป็น 35% ยิ่งไปกว่านั้น การจัดโปรโมชันส่งเสริมการตลาดต่างๆ เช่น เทศกาลชอปปิงเอาใจคนโสด 11.11 ของ Lazada, 12.12 Birthday Sale ของ Shopee, และ Black Friday จะส่งผลให้ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกกว่า 1 ล้านชิ้นต่อวัน

    การเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้เล่นรายใหญ่จากต่างประเทศ ส่งผลให้การแข่งขันด้านราคามีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการทั้งไทยและเทศต่างต้องเผชิญกับการแข่งขันในด้านคุณภาพการบริการ และความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้าที่เข้มข้นมากขึ้นอีกด้วย

    ไปรษณีย์ไทยครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด

    ในด้านการแข่งขัน ธุรกิจขนส่งพัสดุมีแนวโน้มแข่งขันด้านราคารุนแรงยิ่งขึ้น จากการเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ โดยปี 2561 ประกอบด้วยผู้เล่นรายใหญ่ 3 ราย ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 80% ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย (41%), เคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส (39%) และลาซาดา เอ็กซ์เพรส (8%) และผู้เล่นรายกลางอื่นๆ อีกหลายราย เช่น นิ่มเอ็กซ์เพรส (3%), ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส (2%), เอสซีจี เอ็กซ์เพรส (1%) และนินจาแวน (1%) เป็นต้น

    นอกจากนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้เล่นจากต่างประเทศเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดขนส่งพัสดุของไทย เช่น เบสท์โลจิสติกส์ (Best logistics) บริษัทที่มีกลุ่มอาลีบาบาจากจีนเป็นหุ้นส่วน,เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส (J&T Express) ผู้ให้บริการขนส่งอันดับ 1 จากอินโดนีเซีย และซีเจ โลจิสติกส์ (CJ logistics) ผู้ให้บริการขนส่งรายใหญ่จากเกาหลีใต้ที่ได้ร่วมทุนกับเจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) ของไทย เป็นต้น

    ยิ่งไปกว่านั้นผู้ให้บริการขนส่งพัสดุรายเดิมยังมีโอกาสเผชิญกับการแข่งขันจากผู้ให้บริการรับ-ส่งสินค้าตามความต้องการ (On-demandDelivery) ซึ่งให้บริการด่วนภายใน 1 ชั่วโมง ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ลาลามูฟ (Lalamove), ไลน์แมน (Lineman) และ แกร็บเอ็กซ์เพรส (Grab Express) เป็นต้น

    อย่างไรก็ดี การขนส่งแบบ On-demand Delivery เน้นกลุ่มผู้ใช้บริการที่ต้องการขนส่งสินค้าทันที ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับการขนส่งพัสดุแบบเดิม อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในด้านขอบเขตการให้บริการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และอัตราค่าบริการที่สูงกว่าการขนส่งพัสดุแบบเดิมราว 2 เท่า

    กลยุทธ์ลดราคาดึงผู้บริโภค

    จากจำนวนผู้เล่นในตลาดเพิ่มขึ้น การลดราคาจึงเป็นวิธีหลักในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ สะท้อนได้จากอัตราค่าบริการขนส่งพัสดุเริ่มต้นที่ปรับลดลงจากราว 35 บาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็น 19 บาทในปัจจุบัน

    โดยอัตราค่าบริการขนส่งริ่มต้นของผู้ประกอบการแต่ละราย ในปี 2562 พบว่า ไปรษณีย์ไทย 25 บาท/ชิ้น, เคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส 35 บาท/ชิ้น, แฟลช เอ็กซ์เพรส  25 บาท/ชิ้น, เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส 19 บาท/ชิ้น, เอสซีจี เอ็กซ์เพรส 40 บาท/ชิ้น และ นินจาแวน 30 บาท/ชิ้น

    อีกทั้งในอนาคตอัตราค่าบริการมีโอกาสปรับลดลงอีก จากวิธีการลดราคาค่าขนส่งนอกจากจะมีส่วนช่วยทำให้ผู้ประกอบการดึงดูดปริมาณขนส่งพัสดุเพิ่มขึ้นและทำให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นแล้ว ปริมาณการขนส่งที่มากขึ้นยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งเฉลี่ยของผู้ประกอบการ หรือการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)

    การแข่งขันที่รุนแรงนี้จะส่งผลบวกต่อผู้ใช้บริการขนส่งพัสดุเนื่องจากจะได้รับประโยชน์จากอัตราค่าบริการขนส่งที่ถูกลง การบริการขนส่งที่ปลอดภัยและรวดเร็วขึ้น และมีผู้ประกอบการให้เลือกใช้หลายราย

    นอกจากการแข่งขันด้านราคาแล้ว ธุรกิจขนส่งพัสดุยังต้องแข่งขันในด้านบริการทั้งในแง่คุณภาพการบริการและความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า โดยในด้านคุณภาพการบริการผู้ประกอบการควรต้องยกระดับความปลอดภัยในการจัดส่งสินค้าเนื่องจากมูลค่าสินค้าที่สั่งซื้อออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

    สินค้าเด็ก-เครื่องใช้ไฟฟ้า ขายดีบนโลกออนไลน์

    จากการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า มูลค่าเฉลี่ยของสินค้าต่อการสั่งซื้อผ่านช่องทาง E-commerce สูงขึ้นจาก 1,300 บาทในปี 2560 มาอยู่ที่ 1,700 บาทในปี 2561 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคของเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน และเครื่องสำอาง อีกทั้งมูลค่ามีโอกาสสูงขึ้นอีกจากกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงยุคใหม่ (New Wealth) ที่หันมาสั่งซื้อสินค้าแบรนด์เนมระดับ Hi-End ผ่านทาง Online Platform มากขึ้น

    ยิ่งไปกว่านั้นผู้ประกอบการยังต้องเน้นการให้บริการลูกค้า เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ผู้ใช้บริการสามารถสื่อสารกับผู้ประกอบการได้โดยตรงผ่านหลายช่องทาง ทั้งข้อความส่วนตัวหรือบนพื้นที่สาธารณะอย่างเพจเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม อีกทั้งผู้ใช้บริการยังสามารถตรวจสอบสถานะพัสดุได้ตลอดเวลา ส่งผลให้การบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน การขนส่งที่ล่าช้า และการละเลยการติดตามปัญหาของผู้ใช้บริการจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการ

    อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรต้องรักษาความรวดเร็วในการขนส่งและหาโอกาสในการลดระยะเวลาในการจัดส่ง เนื่องจากความล่าช้าในการจัดส่งอาจทำให้ผู้ใช้บริการมีโอกาสปรับเปลี่ยนไปใช้บริการจากคู่แข่งในการขนส่งครั้งถัดไป

    ทั้งนี้ธุรกิจขนส่งพัสดุเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูงภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงทั้งในด้านราคาและการให้บริการ อีกทั้งผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญในการดำเนินธุรกิจในการลงทุนเทคโนโลยีสมัยใหม่ การพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นนี้ให้ได้