Tuesday, May 23, 2023
More

    กระแสงดถุงพลาสติกมาแรง คาดปี 2563 ลด 13,000 ล้านใบ

    จากการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการคิดจัดการกับต้นตอของปัญหาขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่มีอายุการใช้งานสั้น และกระทบกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นปี 2563 จึงได้มีการประกาศงดใช้ “ถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง” จนเกิดการตื่นตัวในวงกว้าง คาดว่าจะลดการใช้ลง 13,000 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่า 2,400 ล้านบาท

    ร้านค้าปลีกจะลดถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง 1 ใน 3

    ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นมา ไทยงดใช้ “ถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง” (Single-use Plastic Bag) อันเป็นผลจากแผนจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ของกรมควบคุมมลพิษ ที่มุ่งลดขยะพลาสติก   หูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งจากแหล่งหลัก คือ 1. กลุ่มห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ 2. ร้านขายของชำ และ 3. ตลาดสด เอกชน และแผงลอย


    การงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง เริ่มดีเดย์ในกลุ่มห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ ซึ่งให้ความร่วมมือในการงดแจกแล้ว รวมถึงกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้คนไทยส่วนหนึ่งเริ่มเลิกใช้ถุงพลาสติกประเภทดังกล่าว ทำให้คาดว่าปริมาณขยะถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งจะลดลงราว 1 ใน 3 ของปริมาณการใช้เฉลี่ยต่อปี และภายในปี 2565 จะสามารถลดการใช้อีก 2 ใน 3 จากกลุ่มตลาดสด ร้านขายของชำ และอื่นๆ ที่จะมีการงดใช้หลังจากนี้ ประกอบกับเทรนด์การงดใช้ถุงประเภทดังกล่าวที่อาจจะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

     

    คาดปี 2563 ลดใช้ 13,000 ล้านใบ

    ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในไทยเฉลี่ยปี  45,000 ล้านใบ การขับเคลื่อนดังกล่าวทำให้ความต้องการของถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งลดลง

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าปี 2563 ปริมาณถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งจะลดลงร้อยละ 29 จากค่าเฉลี่ยการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วของคนไทย ซึ่งคิดเป็นประมาณ 13,000 ล้านใบ มูลค่าประมาณ 2,400 ล้านบาท ในอนาคตที่มีการขยายความร่วมมือไปในกลุ่มตลาดสดและร้านขายของชำเพิ่มขึ้น จะเป็นผลให้เมื่อสิ้นสุดปี 2565 ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกดังกล่าวลดลงไปอย่างน้อยประมาณร้อยละ 64 จากค่าเฉลี่ยการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วของคนไทย คิดเป็นจำนวนราว 29,000 ล้านใบ มูลค่าประมาณ 5,300 ล้านบาท

    ดังนั้นจากการคาดการณ์จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากขยะถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้นมีแนวโน้มที่จะแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะมีเพียงร้านค้าปลีกขนาดเล็กบางส่วนและผู้บริโภคบางรายที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัว เนื่องจากถุงพลาสติกยังตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภค ประกอบกับสินค้าบางประเภทยังมีความจำเป็นต้องใช้ นอกจากว่าจะสามารถหาบรรจุภัณฑ์ใหม่เข้ามาทดแทน

    ถุงเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมมีความต้องการ 410 ล้านใบ

    ขณะนี้สังคมไทยกำลังตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง จนนำไปสู่การรณรงค์งดใช้อย่างจริงจัง การขับเคลื่อนดังกล่าวย่อมทำให้ความต้องการของถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งลดลง แต่ด้วยคุณสมบัติเฉพาะของถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค เมื่อมีการงดใช้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หาสิ่งอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันและมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ทดแทน นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจให้กับถุงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ทดแทนถุงพลาสติกประเภทดังกล่าว เช่น ถุงผ้า ถุงกระดาษ และถุงพลาสติกชนิดหนา (ใช้ซ้ำได้) เป็นต้น

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2563 จะมีความต้องการถุงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถใช้ซ้ำได้ ราว 410 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,630 ล้านบาท และเป็นผลให้ภาพรวมของผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการลดลงของการใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งยังคงเป็นบวกเกือบ 2,191 ล้านบาท

    โดยโอกาสทางธุรกิจในการปรับตัวของผู้ประกอบการผลิตถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งคือ ถุงพลาสติกชนิดหนา ซึ่งมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ยังไม่คุ้นชินกับการพกถุงผ้าโดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ ขณะที่ถุงผ้าพลาสติก คาดว่าจะได้รับความนิยมอย่างมาก จากราคาที่ไม่สูงมาก และมีแนว-โน้มขยายตัวขึ้นจากความต้องการที่ผู้บริโภคปรับพฤติกรรม

    สำหรับตลาดถุงผ้า และถุงกระดาษนั้น น่าจะเป็นโอกาสของผู้ที่อยู่นอกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกมากกว่า แม้ว่าตลาดจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากการงดใช้ถุงพลาสติก แต่ปัจจัยเรื่องความคงทน ทำให้อัตราซื้อซ้ำต่ำ ดังนั้นอัตราการเติบโตในระยะถัดไปจะค่อยๆ ชะลอลง

    ขณะที่ถุงพลาสติกชีวภาพ (Biodegradable plastic Bag) ยังไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม จากจุดอ่อนหลายประการ อาทิ ขนาดตลาดที่จำกัด ราคาผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างสูง และระยะเวลาการเก็บรักษาสั้น ส่วนถุงสปันบอนด์ ก็มีข้อจำกัดในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่ยังเป็นข้อถกเถียงในเรื่องการย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติกได้ ทำให้มีโอกาสทางธุรกิจเพียงชั่วคราว

    สำหรับภาพรวมของตลาดถุงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นบวกในระยะเริ่มต้น เนื่องจากเป็นปีแรกที่เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงเกิดแรงกระตุ้นของการซื้อถุงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากผู้บริโภค ประกอบกับมูลค่าของถุงทดแทนที่สูงกว่าถุงพลาสติกที่ถูกงดใช้ ส่งผลให้คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวเล็กน้อย ราวร้อยละ 3.8 ในปี 2564 และร้อยละ 4.3 ในปี 2565

    ซึ่งอัตราขยายค่อนข้างต่ำ เนื่องจากถุงทดแทนมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากกว่า 5 ปี จึงมีความถี่ในการซื้อซ้ำลดลง บวกกับการขยายตัวของมาตรการงดใช้ถุงในระยะถัดไป ในร้านค้าขนาดเล็ก และตั้งอยู่ในเขตเมืองรอง ซึ่งมีปริมาณความต้องการสูงไม่เท่าหัวเมือง ทั้งยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดของการทดแทน ทั้งจากพฤติกรรมของผู้บริโภค ประเภทสินค้าที่ซื้อ และบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่ไม่มิดชิดอย่าง ผักสดที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์ ซึ่งไม่เอื้อต่อการใช้ถุงทดแทน โดยเฉพาะถุงที่ผลิตจากผ้าหรือกระดาษ

    จากการรณรงค์งดใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ภายใต้แผนจัดการขยะพลาสติกนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้การใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งลดลง ซึ่งการดำเนินการเบื้องต้นประเมินได้ว่าจะเป็นแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎ-หมายและมาตรการบังคับใช้ และการงดใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่จะไม่เป็นเพียงกระแสเพียงชั่วครู่ชั่วครั้งเท่านั้น หากแต่จะอยู่ในพฤติกรรมการใช้งานอย่างถาวร เพราะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ประเมินมูลค่าไม่ได้