Wednesday, October 4, 2023
More

    ไทยขึ้นแท่นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 11 ของโลก ที่ 2 ของเอเชีย ด้วยมูลค่า 33,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ดัชนีอุตสาหกรรมอาหารของไทยในปี 2562 ลดลง 2% ครั้งแรกในรอบ 5 ปี และการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 57.8% ลดลงจาก 58.7% ในปีก่อน เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ รายได้ครัวเรือนลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับภาคการส่งออกที่หดตัวลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เงินบาทแข็งค่า และราคาส่งออกสินค้าอาหารที่ลดลงกระทบต่อรายได้เข้าประเทศ


    ขณะที่การส่งออกอาหารของไทยในปี 2562 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารโลกอันดับที่ 11 ด้วยมูลค่า 33,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 2.51% ดีขึ้นจากปี 2561 ซึ่งอยู่ที่อันดับที่ 12 และเมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากจีน

    โดยตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คือ จีน ซึ่งเป็นครั้งแรก ด้วยมูลค่า 150,749 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 34% แทนที่กลุ่มประเทศ CLMV คิดเป็นสัดส่วน 14.7% ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมด ซึ่งสินค้าส่งออกหลักที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นคือสินค้าในกลุ่มผัก และผลไม้ ไก่สดแช่แข็ง รวมถึงกุ้งแช่แข็ง

    ส่วนแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในปี 2563 คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกราว 34,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.4% หรือราว 1,022,610 – 1,061,000 ล้านบาท โดยมีโอกาสหดตัวลง 0.3% จนถึงขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ และค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ระหว่าง 29.30 – 30.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.4%

    โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่ามูลค่าส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว(+0.5%) ไก่(+8.0%) ปลาทูน่ากระป๋อง(+6.3%) แป้งมันสำปะหลัง(+6.4%) กุ้ง(+4.2%) เครื่องปรุงรส(+7.5%) มะพร้าว(+6.0%) สับปะรด(+7.0%) และอาหารพร้อมรับประทาน(+5.5%) ส่วนที่คาดว่าจะลดลง คือ น้ำตาลทราย (-5.0%)

    สำหรับปัจจัยสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารของไทยในปี 2563 ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัวจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ลดความตึงเครียดลง 2.จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มากขึ้นหลังเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร 3.มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กำลังจะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีหลัง จะทำให้เกิดความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น 4.เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการได้รับแรงหนุนจากแผนงานรัฐบาลปี 2563 รวมถึงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ที่ส่งผลต่อความต้องการอาหารที่มากขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศที่เป็นพื้นที่ระบาดของโรค

    ทั้งนี้สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนสถาบันอาหารในปี 2563 นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ เปิดเผยว่าจะเร่งสานต่อมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูประยะ 10 ปี สู่ภาคปฏิบัติ มุ่งยกระดับกลุ่ม SME และ OTOP ผลักดันการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรและของเหลือ หนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารอนาคต (Future Food) พร้อมทั้งเตรียมร่วมมือกับหลายภาคส่วนศึกษาวิจัยการผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากกัญชง

    นอกจากนี้จะขยายขอบเขตการส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ไปในวงกว้าง พร้อมรับมือการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอาหารสู่ Smart Factory โดยเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายด้านเทคโนโลยีกับหน่วยงานชั้นนำในต่างประเทศ เดินหน้าให้บริการการผลิตระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็กเพื่อทดลองตลาดแบบครบวงจรด้วย Food Industrial Transformation Center  2 แห่งทั้งในกรุงเทพ และสงขลา สู่เป้าหมายการเป็น 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก และศูนย์กลางการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพของอาเซียน

    ทั้งนี้ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ได้เปิดเผยตัวเลขจีดีพี หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยไตรมาส 4/62 เติบโต 1.6% และจีดีพีทั้งปี 2562 อยู่ที่ 2.4% ส่วนตัวเลขการส่งออกไตรมาส 4/62 ติดลบ 4.9% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า การแข็งค่าของเงินบาท และปัญหาความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 รวมถึงภัยแล้ง แต่หากดูตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ พบว่ามีการขยายตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน