ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การวิ่งมาราธอนถือเป็นเมกาเทรนด์ของคนไทย วัดจากการจัดงานแข่งขันที่มีขึ้นทุกหัวระแหง ตั้งแต่ในกรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่ไปถึง ท้องถิ่น แต่ละสัปดาห์ก็มีจัดหลายรายการ โดยคาดว่าในปี 2563 จะมีการจัดงานวิ่งมากกว่า 1,800 รายการ มีนักวิ่งราว 4-6 ล้านคน ส่งผลให้ธุรกิจรับจัดงานวิ่งได้รับอานิสงส์เป็น เม็ดเงินกว่า 1,700 ล้านบาท
ปี 63 ไทยจัดงานวิ่งทะลุ 1,800 รายการ ยอดนักวิ่งราว 4-6 ล้านคน
หลายปีให้หลังมา การวิ่งมาราธอนได้รับกระแสความสนใจในหมู่นักวิ่งไทยจำนวนมากมาอย่าง ต่อเนื่อง ภาพหนึ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนคือ การจัดการแข่งขันวิ่งที่มีการเก็บค่า ใช้จ่ายสำหรับนักวิ่งที่เข้าร่วมงานนั้น มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปี 2561 มีการจัดงานวิ่งทั่วประเทศไทยทะลุ 1,000 รายการเป็นครั้งแรก และในปี 2562 มีถึง 1,872 รายการ
งานวิ่งที่เพิ่มขึ้นนั้น สะท้อนถึงการให้การตอบรับของนักวิ่ง ทั้งกลุ่มนักวิ่งประจำ ที่มักเข้าร่วมงานวิ่งเพื่อฝึกซ้อม พัฒนาระยะการวิ่งของตน และกลุ่มนักวิ่งหน้าใหม่ ที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพหรือเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ครอบครัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุด้วย
อีกด้านหนึ่งฝั่งผู้จัดงานหรือ เจ้าภาพก็เพิ่มจำนวนขึ้นด้วย จากเดิมที่อาจจำกัดเพียงบางองค์กร ก็ขยายไปครอบคลุมทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และสถาบันการ ศึกษา ซึ่งนอกจากจะจัดงานวิ่งเพื่อประชาสัมพันธ์องค์กรหรือระดมทุนต่างๆ แล้ว ยังเป็นหนึ่งในการทำกิจกรรมส่งเสริมด้านการตลาดของภาคเอกชน ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ เป็นโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เน้นการดูแลสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจรับจัดงานวิ่ง ขณะเดียวกันก็สร้างผลบวกต่อสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการวิ่งเช่นกัน
สำหรับทิศทางธุรกิจรับจัดงานวิ่งในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปี 2563 จำนวนการจัดงานวิ่งอาจใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ต่ำกว่า 1,800 รายการ โดยนักวิ่งที่จะเข้าร่วมน่าจะมีจำนวนราว 4-6 ล้านคน คาดว่าจะส่งผลให้ธุรกิจรับจัดงานวิ่งในปี 2563 มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1,700 ล้านบาท โดยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนงานวิ่งกระจายตัวไปตามจังหวัดต่างๆ ขณะที่งานวิ่งในกรุงเทพฯ น่าจะมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 20 ซึ่งการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นการจัดงานวิ่งในต่างจังหวัด ที่ปัจจุบันกระจายไปครอบคลุมเกือบครบทุกจังหวัดแล้ว ขณะที่งานวิ่งในกรุงเทพฯ ค่อนข้างทรงตัวหรือเพิ่มในอัตราที่น้อยกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจำนวนสถานที่ การจัดงานในกรุงเทพฯ อย่างสวนสาธารณะมีค่อนข้างจำกัด
ขณะเดียวกันเม็ดเงินจากรายได้ของธุรกิจรับจัดงานวิ่งนี้ จะถูกกระจายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจที่ผลิตและจำหน่ายเสื้อ อุปกรณ์ที่ระลึกงานวิ่ง เหรียญและถ้วยรางวัล ผู้ผลิตป้ายหมายเลขวิ่ง (BIB) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ให้บริการ สถานที่จัดงาน ในขณะเดียวกัน การเข้าร่วมงานวิ่งโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ก็อาจทำให้นักวิ่งมีค่าใช้จ่ายด้านการ เดินทางและที่พักเพิ่มเติม นอกเหนือการใช้จ่ายในส่วนของชุดกีฬา Accessories & Gadgets อาหารเสริม เป็นต้น
COVID-19 – PM2.5 ส่อกระทบงานวิ่งมาราธอน
ท่ามกลางกระแสการจัดงานวิ่งที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากแต่ในปีนี้มีสิ่งที่ต้องจับตามองถึงสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อการจัดงาน ทั้งประเด็นเรื่องวิกฤตฝุ่นละลองขนาดเล็ก PM2.5 และเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งเชื่อว่านักวิ่งคงจะมีความรอบคอบระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจเลือกเข้าร่วมงานมากขึ้น
ขณะเดียวกันความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ยังอาจมีผลกระทบให้ผู้จัดงานส่วนหนึ่งปรับแผนการจัดงานวิ่งในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม อย่าง Hong Kong Marathorn และ Tokyo Marthorn ที่มีการยกเลิก ทั้งนี้หากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาคลี่คลาย คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม ผู้จัดงานในไทยน่าจะยังคงมีการจัดงานวิ่งไม่ต่างจากปีก่อนๆ หรืออาจเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว เป็นจังหวะที่มักจะมีงานวิ่งมาก คิดเป็นสัดส่วนถึงราวร้อยละ 43 ของจำนวนงานวิ่งทั้งหมดในแต่ละปี
ไทยหวังยกระดับมาตรฐานโลก เล็ง 3 ปียืนเบอร์ 1 อาเซียน
ขณะเดียวกันปัจจุุบันธุรกิจรับจัดงานวิ่งยังอาจเผชิญความท้าทาย จากการดึงดูดนักวิ่ง ทั้งในกลุ่มนักวิ่งประจำ ที่คาดหวังจะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หรือมีความต้องการที่ซับซ้อนขึ้น โดยมองหาประสบการณ์และความท้าทายใหม่ๆ เพื่อพัฒนาฝีเท้าตนเอง หรือแม้แต่สนใจที่จะเข้าร่วมงานวิ่งระดับอาชีพในต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย และกลุ่มนักวิ่งหน้าใหม่ที่มีกำลังซื้อและยินดีที่จะใช้จ่ายเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในด้านการเดินทางและที่พักหากงานจัดในต่างจังหวัดด้วย ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มีทางเลือกของการออกกำลังกายที่หลากหลายในปัจจุบัน
โดยในมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าการยกระดับการจัดงานวิ่งจากประเภททั่วไป ไปสู่งานวิ่งระดับชาติตามมาตรฐานสากล น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ธุรกิจรับจัดงานวิ่งที่มีศักยภาพควรจะมุ่งไป เพราะนอกจากจะสามารถดึงดูดฐานนักวิ่งได้มากขึ้น ทั้งนักวิ่งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพ ผู้จัดงานยังมีโอกาสในการสร้างรายได้จากมูลค่าเพิ่ม
เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและโภชนาการ รวมถึงบริการโรงแรมที่พักและการท่องเที่ยว เนื่องจากหากนักกีฬาต่างชาติวางแผนจะเข้าร่วมงานวิ่งในไทย ก็น่าจะใช้เวลาเข้าร่วมกิจกรรมและท่องเที่ยวในประเทศเฉลี่ยราวๆ 5-7 วัน ซึ่งก็จะถือเป็นการจัดอีเวนท์ที่สร้างรายได้เข้าประเทศ สอดคล้องไปกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) ผ่านการวางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการจัดงาน อีเวนท์กีฬาระดับโลกต่างๆ ด้วย
ขณะที่ภาครัฐได้มุ่งส่งเสริมการจัดงานวิ่งมาราธอนที่ได้มาตรฐานระดับโลกเพิ่มมากขึ้น อันเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจและภาพพจน์ของประเทศ ภายใต้นโยบาย Sport Tourism จึงริเริ่มโครงการไทยแลนด์ โรด เรซซิ่ง สแตนดาร์ด (Thailand Road Racing Standard) โดยนำร่อง 5 งานวิ่งแถวหน้าของประเทศ ประกอบด้วย บางแสน 42 ชลบุรีมาราธอน, บุรีรัมย์ มาราธอน, จอมบึงมาราธอน, ภูเก็ตธอน, บางกอก มิดไนท์ มาราธอน เพื่อเป้าหมายคือการขึ้นเป็นผู้นำด้านการจัดงานวิ่งมาราธอนเบอร์ 1 ของอาเซียน ภายใน 3 ปี
ปัจจุบันงานวิ่งในไทยที่ก้าวสู่ระดับมาตรฐานสากล ได้แก่ บางแสน 21 ฮาล์ฟมาราธอน ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน IAAF Silver Label ในปี 2562, บุรีรัมย์มาราธอน ได้รับการรับรองมาตรฐาน IAAF Bronze Label ในปี 2562 ส่วน บางแสน 42 ชลบุรีมาราธอน อยู่ระหว่างการยื่นขอมาตรฐาน IAAF Bronze Label
นอกจากจะยกระดับการจัดงานวิ่งให้ได้มาตรฐานสากลแล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรต้องคำนึงคือการส่งเสริมการจัดงานวิ่งภายในประเทศทุกระดับให้มีคุณภาพ ปัจจุบันทาง สมาพันธ์และมูลนิธิสมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย สมาคมกีฬากีฑาแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สสส. ได้จัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนน เพื่อเป็นคำแนะนำให้การจัดการแข่งขันวิ่งประเภทถนนมีมาตรฐานสูงในระดับที่สามารถจัดเกรด หรือติดป้ายรับรองของ IAAF กติกาและคำแนะนำที่เป็นสากลพึงปฎิบัติ เพื่อให้การจัดการแข่งขันมีความปลอดภัยและเกิดความเท่าเทียมกัน ซึ่งหากทั้ง 1,800 รายการที่จัดนั้นนำไปใช้เป็นหลักในการจัดอย่างจริงจริง เชื่อว่าการจัดงานวิ่งในไทยจะมีระบบจัดการที่ดีขึ้น สิ่งสำคัญคือประโยชน์ที่ได้รับก็จะตกไปที่นักวิ่ง รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง