นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ได้ลงนามในประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศเกี่ยวกับการให้บริการจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีรายละเอียดดังนี้
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ ท้องที่นอกราชอาณาจักร ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea) สาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China) รวมถึงเขตบริหารพิเศษมาเก๊า (Macao) และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Hong Kong) สาธารณรัฐอิตาลี (Italian Republic) และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (IslamicRepublic of Iran) เป็นเขตโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้น
เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศในการปฏิบัติการบินระหว่างท้องที่ดังกล่าว และเพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคของประเทศ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จึงประกาศแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศเกี่ยวกับการให้บริการจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังต่อไปนี้
1.ในกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ท้องที่นอกราชอาณาจักรใดเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากท้องที่นั้นต้องได้รับการกักตัว (quarantine) และอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออย่างอื่นตามที่รัฐบาลกำหนด
2.ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ให้บริการจากสถานีต้นทางในท้องที่ที่เป็นเขตโรคติดต่อ ทำการคัดกรองผู้โดยสารโดยในเวลาแสดงตัวเพื่อออกบัตรขึ้นเครื่อง (Check in) โดยตรวจสอบใบรับรองแพทย์ (Health Certificate) เพื่อยืนยันว่าผู้โดยสารไม่มีความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หากผู้โดยสารไม่สามารถแสดงใบรับรองแพทย์ดังกล่าวได้ ให้งดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) ให้แก่ผู้โดยสารนั้น
3.ผู้ดำเนินการเดินอากาศอาจพิจารณาใช้มาตรการตาม 2. ในการคัดกรองผู้โดยสารจากสถานีต้นทางในประเทศ และเขตปกครองพิเศษที่มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข หรือ World Health Organization ว่าพบผู้ติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
4.เมื่อได้ตรวจสอบใบรับรองแพทย์ (Health Certificate) และออกบัตรขึ้นเครื่องให้ผู้โดยสารแล้ว ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศจัดให้ผู้โดยสารกรอกข้อมูลตามแบบ ต.8 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และยื่นต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินปลายทาง
5.เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศมีอำนาจออกคำสั่งตามตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ดังต่อไปนี้
(1) ห้ามผู้ใดเข้าไปในหรือออกจากอากาศยานที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
(2) ห้ามนำพาหนะอื่นใดเข้าเทียบอากาศยานที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
(3) ดำเนินการหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินการดังต่อไปนี้
(ก) กำจัดความติดโรค เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ของโรค
(ข) จัดให้อากาศยานจอดอยู่ ณ สถานที่ที่กำหนดให้จนกว่าเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศจะอนุญาตให้ไปได้
(ค) ให้ผู้เดินทางซึ่งมากับพาหนะนั้นรับการตรวจในทางแพทย์ และอาจให้แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ณ สถานที่และระยะเวลาที่กำหนด
6.ผู้ดำเนินการเดินอากาศจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งผู้เดินทางซึ่งมากับอากาศยานนั้น เพื่อแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตลอดทั้งออกค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
7.ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตราย และมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตรายตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยเคร่งครัด
8.ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งแนวปฏิบัติดังกล่าวให้เจ้าหนัาที่ประจำสถานีต้นทาง และเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานให้หราบและถือปฏิบัติ และให้เจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานประกาศเพิ่มเติมบนอากาศยานให้ผู้โดยสารทราบโดยทั่วกัน