Wednesday, December 7, 2022
More

    บุหรี่เถื่อนเกลื่อนเมือง!! ชาวไทยเป็นสิงห์นักสูบกว่า 10.7 ล้านคน

    คนไทยสูบบุหรี่มากถึง 10.7 ล้านคน คิดประมาณ 19.1% ของประชากรทั้งหมด นอกจากจะมีเยาวชนรายใหม่เป็นนักสูบเพิ่มขึ้นแล้ว ปัญหาการลักลอบค้าบุหรี่ไม่เสียภาษียังเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะในภูมิภาคภาคใต้ของไทย พบการค้าบุหรี่ผิดกฎหมายสุงสุด

    สงขลาแหล่งบริโภคบุหรี่ไม่เสียภาษี

    จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่จำนวน 10.7 ล้านคน หรือประมาณ 19.1% ซึ่งในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านๆ มา แต่ปัญหาที่พบคือ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในกลุ่มของเยาวชนมีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 0.3% โดยแต่ละปีจะมีเยาวชนรายใหม่ที่สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นราว 200,000-300,000 คน ทดแทนผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่แล้วเสียชีวิต หรือเลิกสูบไป


    ขณะที่ผลการสำรวจซองเปล่าบุหรี่ (Empty Pack Survey) จากบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง  (ไทยแลนด์) จำกัด พบว่า สัดส่วนบุหรี่ไม่เสียภาษีในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 6.6% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 โดยสงขลามีการบริโภคบุหรี่ไม่เสียภาษีมากถึง 72.1% ตามด้วยสตูล 65.7% พัทลุง 60.8% และระนอง 34%

    โดยพบว่า การลักลอบค้าบุหรี่ไม่เสียภาษีกลายเป็นทางเลือกของผู้สูบบุหรี่ เนื่องจากราคาขายบุหรี่ที่เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายและบุหรี่ไม่เสียภาษีมีความแตกต่างกันมาก อยู่ที่ 30-40 บาทต่อซอง (เทียบกับราคาบุหรี่ที่ถูกต้องตามกฎหมายที่มีราคาต่ำที่สุดในท้องตลาด)

    ไทยพบบุหรี่เถื่อน 6.6%

    จากการสำรวจซองเปล่าบุหรี่ (Empty Pack Survey) จากนีลเส็น พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนบุหรี่ไม่เสียภาษีกลับมาเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก หลังจากที่มีสัดส่วนลดลงแล้วในปีก่อนหน้า โดยตัวเลขขยับขึ้นมาเป็น 6.6% ในปี 2562 เพิ่มขึ้นจาก 5.2% ในปี 2561 

    เมื่อพิจารณารายตราสินค้า (Brand) พบว่า 31.5% ของซองบุหรี่ไม่เสียภาษีเป็นบุหรี่ตรา John ซึ่งไม่ปรากฏชื่อบริษัทผู้ผลิตบนซอง ขณะที่กว่า 16% ของซองบุหรี่ที่ไม่เสียภาษีพบว่าเป็นบุหรี่ปลอม (Counterfeit) ตราสินค้าของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ PMI (มาร์ลโบโร และ แอลแอนด์เอ็ม)

    เมื่อพิจารณาตามประเทศที่มีไว้จำหน่าย (Market Variant) พบว่า บุหรี่ที่ไม่เสียภาษีส่วนใหญ่หรือ 67% ไม่ระบุบนซองว่ามีไว้จำหน่ายที่ประเทศใด (Unspecified) รองลงมาคือ บุหรี่ปลอมตราสินค้าของ PMI ตามมาด้วยบุหรี่ที่มีไว้เพื่อจำหน่ายในประเทศกัมพูชา และร้านค้าปลอดอากร ตามลำดับ

    ทั้งนี้ หากรัฐบาลเดินหน้านโยบายต่อสู้กับปัญหาบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ไม่เสียภาษี ก็จะถือเป็นโอกาสช่วยเพิ่มการจัดเก็บภาษีบุหรี่ให้ได้ตามเป้าหมายที่ 78,000 ล้านบาทด้วย

    1 ต.ค. 63 มาแน่ ภาษีบุหรี่ 40%

    ด้านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดข้อมูลงบการเงินล่าสุดของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 พบว่า มีกำไรสุทธิเพียง 347 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40 จากกำไรสุทธิในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2561 ที่เคยได้ 588 ล้านบาท ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐหลังจากที่ขึ้น ภาษี เพื่อตั้งเป้าหมายว่า เมื่อบุหรี่ราคาแพงขึ้นคนสูบก็จะลดน้อยลง

    โดยปัจจุบันการเก็บภาษีบุหรี่มีอัตรา 20% สำหรับบุหรี่ที่ราคาไม่เกินซองละ 60 บาท และ 40% สำหรับบุหรี่ที่ราคาเกินซองละ 60 บาท โดยกระทรวงการคลังกำหนดการขึ้นภาษีเป็นอัตราเดียว 40% ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป

    ซึ่งการปรับขึ้นภาษียาสูบจะทำให้ระบบภาษียาสูบกลายเป็นแบบอัตราเดียวตามแนวทางสากล ซึ่งสอดคล้องกับข้อแนะนำขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึงองค์การอนามัยโลกด้วย เพื่อลดนักสูบหน้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต