แบงก์ชาติ เผยผลสำรวจ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงานในเกือบทุกภูมิภาค โดยกลุ่มสาขาบริการ-ท่องเที่ยวเปราะบางสุด พร้อมระบุมาตรการปิดสถานที่เสี่ยง กระทบผู้มีงานทำในสัดส่วน 20% ขณะผู้มีงานทำราว 63% ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้
COVID-19 ทำพิษแรงงานเกือบครบทุกภูมิภาค
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ได้ทำการสำรวจข้อมูลและความเห็นของผู้ประกอบการที่ครอบคลุมในแหล่งท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – 17 มีนาคม 2563 โดยข้อมูลบ่งชี้ว่าแรงงานในเกือบทุกภูมิภาคได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ค่อนข้างชัดเจน
โดยเห็นได้จากสัญญาณความเปราะบางที่กระจายไปยังสาขาบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ทั้งการหยุดกิจการชั่วคราวที่เร่งขึ้น รายได้ OT ที่ลดลง และการเปลี่ยน รูปแบบการจ้างงาน
แม้ว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการพยายามรักษาการจ้างงานไว้และไม่เปิดรับคนเพิ่ม แต่ในอนาคตผู้ประกอบการให้ความเห็นว่าอาจปรับตัวโดยการลดเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ รวมถึงลดเวลาทำงานหรือให้สมัครใจ Leave without Pay
ขณะที่ในอนาคต COVID-19 จะส่งผลต่อแรงงานกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในภาคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานบริการ และแรงงานในภาคการผลิต จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ภาคการท่องเที่ยว-บริการทรุด
แบงก์ชาติ ยังระบุด้วยว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้แรงงานในภาคที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ประกอบด้วย โรงแรม ภัตตาคาร การจัดทัวร์ นันทนาการ การขนส่งผู้โดยสาร และการค้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น การค้าอาหาร
โดยกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่จะเป็นผู้จ้างงานตนเอง (Self-employed) ที่มีสัดส่วน 61% ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอนเมื่อเทียบกับลูกจ้าง และ COVID-19 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อจังหวัดที่แรงงานจำนวนมากอยู่ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น จังหวัดภูเก็ต ที่มีสัดส่วนแรงงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวสูงถึง 56% ของแรงงานทั้งหมดในจังหวัด
ปิดสถานที่เสี่ยงกระทบแรงงานโดยตรง 20%
สำหรับมาตรการปิดสถานที่เสี่ยงชั่วคราว จะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง 20% ซึ่งก็คือผู้ที่ทำงานในภาคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว นักร้อง นักแสดง บริกร ตามสถานบันเทิงต่างๆ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีสัดส่วน 8% ไม่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ด้านการศึกษา มี 0.5% ที่เป็นผู้มีงานทำในภาคการศึกษาที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น โรงเรียนเอกชน โรงเรียนกวดวิชา อาจได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียน แต่บางส่วนอาจเปลี่ยนมาสอน Online ได้ และบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีสัดส่วน 1.3% อาจต้องทำงานหนักขึ้น
63% Work From Home ไม่ได้
ขณะที่การทำงานที่บ้าน (Work from Home) มี 6% ที่สามารถทำงานที่บ้านได้ โดยจะเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการทำงาน สามารถทำงานได้ทุกที่ หรือไม่จำเป็นต้องออกไปพบปะผู้คน เช่น ผู้บริหาร โปรแกรมเมอร์ นักการเงิน
ในขณะเดียวกันการทำงานที่บ้าน ก็จะส่งผลกระทบต่อแรงงานส่วนใหญ่ถึง 63% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เนื่องจากต้องทำงานโดยใช้เครื่องมือเฉพาะ หรือทำงานที่ต้องพบปะกับผู้คน เช่น เกษตรกร วิศวกร นายช่างคุมเครื่องจักร เจ้าหน้าที่คุมท่าอากาศยาน เจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์ธนาคาร คนขับรถบรรทุก มอเตอ์ไซค์ รับจ้าง คนขับรถสามล้อ หรือคนขับรถแท็กซี่
COVID-19 ทำเศรษฐกิจไทยพัง 5 แสนล้าน
ขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าช่วงครึ่งแรกของปี คือระหว่าง ม.ค.-มิ.ย.63 เศรษฐกิจไทยจะได้รับความเสียหายจากการระบาดของ COVID-19 ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท จากเดิมที่ประเมินไว้ ว่าจะในระดับกว่า 2.3 แสนล้านบาท และในจำนวนนี้ภาคการท่องเที่ยวและบริการจะได้รับผลกระทบ 3.5-4.5 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นภาคการส่งออก และอื่นๆ
นอกจากนั้นศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ยังได้สำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งพบว่าในช่วงครึ่งปีแรกภาคธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับความเสียหายเฉลี่ยรายละ 484,847 บาท แยกเป็น ธุรกิจขนาดเล็ก 141,663 บาท/ราย ธุรกิจขนาดกลาง 1.046 ล้านบาท/ราย โดยธุรกิจที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับผล กระทบมากที่สุดเฉลี่ย 1.009 ล้านบาท/ราย รองลงมาเป็นภาคใต้ 879,424 บาท/ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบมาก
นอกจากนั้นยังคาดว่าธุรกิจเอสเอ็มอีประมาณ 72.7% มีโอกาสที่จะปลดคนงานลงอีกเพื่อประคองธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานในภาคบริการ การค้า และการผลิต โดยก่อนหน้านี้ได้มีการปลดคนไปแล้ว 5.3 % โดยเป็นธุรกิจในภาคใต้มากที่สุด ตามด้วยกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนโรงงานหรือธุรกิจที่ยังไม่ปลดคนงานก็จะเน้นบริหารจัดการด้วยการยกเลิกการทำงานนอกเวลาหรือโอที เพื่อลดรายจ่าย รองลงมาคือการลดสวัสดิการ ให้พนักงานหยุดงาน หรือใช้เทคโนโลยีมาช่วย และลดชั่วโมงการทำงาน
คงต้องติดตามกันว่า มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมที่รัฐบาลจะประกาศออกมาทั้งในระยะนี้ และหลังจากนี้จะบรรเทาความยากลำบากของประชาชน เสริมสภาพคล่องของผู้ประกอบการ และผลักดันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวพร้อมขับเคลื่อนต่อไปอย่างแข็งแกร่งได้หรือไม่