ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยกับงานสัปดาห์หนังสือออนไลน์ปีแรกที่จัดขึ้นมาในวันที่ 25 มี.ค. – 5 เม.ย. 63 โดยทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เผยว่าตลอดระยะเวลา 12 วันที่จัดงานมียอดรวมผู้เข้ามาใช้งานเว็บไซต์ www.ThaiBookFair.com มากถึง 660,000 ราย แบ่งเป็นผู้ใช้งานรายใหม่ (New Visitor) จำนวน 68% และผู้ใช้งานซ้ำ (Returning Visitor) จำนวน 32% โดยเป็นผู้ใช้งานจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 60% ส่วนต่างจังหวัด 40%
โดยโทรศัพท์นับเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นักอ่านใช้ในการชอปปิงมากที่สุด 66% รองลงมาคือคอมพิวเตอร์ 29% และแท็บเล็ต 5% ซึ่งช่วงเวลาที่มีจำนวนผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์มากที่สุดจะเป็น 13:00-19:00 น. และยอดจำหน่ายที่เกิดขึ้นตลอดการจัดงานที่มีสำนักพิมพ์กว่า 200 แห่งนั้นอยู่ที่ 36 ล้านบาท ถึงแม้จะอยู่ในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีที่แล้ว ซึ่งจัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติศิริกิติ์ที่มีรายได้อยู่ที่ 494 ล้านบาท
แต่ด้วยปัจจัยด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจ วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานมาเป็นออนไลน์ครั้งแรก ฯลฯ ทำให้ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ยังมองว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ และประเภทหนังสือที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 5 อันดับแรกจากงานสัปดาห์หนังสืออนไลน์ที่ผ่านมามีดังนี้ 1.วรรณกรรม ซึ่งเป็นหมวดที่ได้รับความนิยมจากนักอ่านเป็นระดับต้นๆ มาตลอด, 2.การ์ตูนและไลท์โนเวล ซึ่งเข้ากับกลุ่มผู้อ่านรุ่นใหม่ที่ชอบภาษาอ่านง่าย และมีงานภาพสวยๆ, 3.จิตวิทยาพัฒนาตัวเอง แสดงให้เห็นว่าผู้อ่านยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเอง, 4.การศึกษา เป็นหมวดสามัญประจำบ้านที่นำไปใช้เรียนรู้สำหรับเยาวชนทุกระดับ, 5.ประวัติศาสตร์ซึ่งความหลากหลายของงานเขียนแนวประวัติศาสตร์ที่ออกมาในปัจจุบันทำให้ไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่หนังสือหมวดประวัติศาสตร์ติดอยู่ในอันดับต้นๆ
และหากเรามองไปยังภาพรวมเกี่ยวกับพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทยทั้งประเทศจากผลสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 ในกลุ่มประชากรตัวอย่าง 55,920 คน ทั้งในและนอกเขตเทศบาลทั่วประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนไทยยังคงเลือกอ่านหนังสือเล่มอยู่ถึง 88% แม้ปฎิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาของสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะทำให้อัตราดังกล่าวลดลงไปเมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งจำนวนคนไทยที่อ่านหนังสือเล่มอยู่ที่ 96.1% แต่ก็ยังถือว่าเป็นการลดลงไปในจำนวนที่น้อยมาก ยิ่งเมื่อเทียบกับอัตราการอ่านหนังสือบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 75.4% นั้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหากหนังสือเล่มได้รับการออกแบบรูปเล่มอย่างสวยงาม เนื้อหาภายในที่มีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของนักอ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย หนังสือเล่มก็ยังคงเคียงคู่ไปกับสื่อใหม่อย่างอิเล็กทรอนิกส์ได้ต่อไปแน่นอน แม้จะไม่ได้ยืนอยู่ในฐานะสื่อที่คนเลือกเสพอันดับ 1 อีกต่อไปก็ตาม
โดยผลสำรวจในครั้งนี้ยังลงรายละเอียดไปจนถึง 10 จังหวัดที่มีจำนวนคนอ่านหนังสือมากที่สุดดังนี้ 1.กรุงเทพฯ 92.9%, 2.สมุทรปราการ 92.7%, 3.ภูเก็ต 91.3%, 4.ขอนแก่น 90.5%, 5.สระบุรี 90.1%, 6.อุบลราชธานี 88.8%, 7.แพร่ 87.6%, 8.ตรัง 87.2%, 9.นนทบุรี 86.6%, 10.ปทุมธานี 86.2%
ส่วนทิศทางของวงการหนังสือในบ้านเรานั้น นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ได้กล่าวว่าหลังจบงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ ทางสมาคมมีแผนรวบรวมปัญหา และข้อเรียกร้องของสำนักพิมพ์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปยังภาครัฐเพื่อให้มีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในวงการหนังสือต่อไปเพราะมีหลายสำนักพิมพ์ที่ได้รับผลกระทบมากเช่นเดียวกับธุรกิจต่างๆ ของประเทศไทย
และอิเวนต์งานหนังสือครั้งต่อไปอย่างงานเชียงใหม่ บุ๊คแฟร์ ครั้งที่ 5 ในวันที่ 26 มิ.ย. – 7 ก.ค. 63 ที่เชียงใหม่ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 (Book Expo Thailand 2020) ในเดือนตุลาคม ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี นั้น หากสถานการณฺ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในบ้านเรายังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะจัดออกมาในรูปแบบออนไลน์เช่นเดียวกัน โดยจะมีการนำประสบการณ์ในการจัดงานสัปดาห์หนังสือออนไลน์ครั้งนี้มาพัฒนา และเสริมความน่าสนใจของกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติม อีกทั้งจากความสำเร็จในการจัดงานสัปดาห์หนังสือออนไลน์ครั้งนี้ หลายสำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมยังได้ร่วมมือกันเพื่อเปิดให้บริการ www.ThaiBookFair.com ในรูปแบบ Online Book Market หรือศูนย์รวมหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 24 ชั่วโมง ต่อไป เพราะเป็นการเพิ่มช่องทางหลักในการชอปปิงหนังสือช่วงที่ร้านหนังสือส่วนใหญ่ยังต้องปิด