กรมควบคุมโรคออกรายงานอุบัติเหตุบนท้องถนนจากการเก็บข้อมูลของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 10-11 เมษายน 2563 หลังเทศกาลสงกรานต์ถูกงดจัดอย่างเป็นทางการ และมาตรการต่างๆ ที่ออกมาของภาครัฐเพื่อให้ประชาชนกักตัวอยู่กับบ้านนั้น พบว่าจำนวนผู้ได้รับอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลงกว่า 3 เท่า และผู้เสียลดลงเกือบ 6 เท่า จากวันที่ 11-12 เม.ย. 62 (ปีที่แล้ว)
งดจัดสงกรานต์มาได้สองวัน ทำยอดอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลงไปขนาดไหน?
วันที่ 12 เมษายน 2563 ที่ผ่านมานายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่บ้าน ไม่ออกไปพบปะกลุ่มเพื่อนหรือสังสรรค์ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ที่สำคัญอาจเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากความประมาท ขับรถเร็ว หรือเมาสุราได้ โดยจากข้อมูลของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตามระบบรายงาน PHER Accident ซึ่งได้เปรียบเทียบ 2 วันแรกของเทศกาลสงกรานต์ในวันที่ 10-11 เม.ย. 63 กับ 11-12 เม.ย. 63 (ปีที่แล้ว) พบว่าสถิติอุบัติเหตุทางถนนในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 เป็นจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัด โดยปีนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บโดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 2,077 ราย และต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 406 ราย ซึ่งผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองกลุ่มมีจำนวนลดลงกว่า 3 เท่าจาก ปี 2562 ซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บโดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 6,719 ราย และต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,410 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตก็มีจำนวนลดลงจากปี 2562 เกือบ 6 เท่า โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในปี 2563 อยู่ที่ 28 ราย ขณะที่ในปี 2562 อยู่ที่ 161 ราย
รถจักรยานยนต์ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดช่วงสงกรานต์
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคยังพบว่า รถจักรยานยนต์คือยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงที่สุดในช่วงสงกรานต์ โดยคิดเป็น 81.97% ซึ่งผู้ขับขี่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มช่วงอายุ 15-24 ปี เกิดเหตุสูงสุดในช่วงเวลา 18:00 น. จากนั้นจะเริ่มลดลงหลังเวลา 19:00 น. และพบผู้ขับขี่ที่มีการดื่มแล้วขับในภาพรวมลดลงจาก 29.86% เหลือ 16.43% ส่วนผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับสูงสุดในกลุ่มอายุ 40-44 ปี คิดเป็น 27.61% ซึ่งในปี 2562 จะสูงสุดในกลุ่มอายุ 35-39 ปี
ทางด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย ยังได้กล่าอีกว่า การที่ผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนปีนี้ลดลงเป็นจำนวนมาก เกิดจากการที่ประชาชนทำตามนโยบายของรัฐบาล คือการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และจากมาตรการเคอร์ฟิว (22:00-04:00 น.) ทำให้อุบัติเหตุหลังเวลา 22:00 น. ลดลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังพบว่าหลังจากที่แต่ละจังหวัดประกาศงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับลดลงมากเช่นกัน จนเป็นการลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล และได้มีเวลาทุ่มเทให้กับการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 มากขึ้น