สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย 6 แห่ง จัดทำงานวิจัยเรื่อง “คนจนเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19” เพื่อสำรวจผลกระทบที่คนจนเมืองได้รับจากวิกฤตครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของภาครัฐ, การป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัส, การประกอบอาชีพในช่วงวิกฤต ฯลฯ เพื่อนำข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และเริ่มรุนแรงขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ ที่เข้มงวดเพื่อกำจัดการแพร่ระบาดของไวรัส ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเวลาเปิด-ปิดสถานบริการ และห้างสรรพสินค้าใหม่, การรณรงค์เรียกร้องให้ประชาชนทำงานที่บ้าน ตามคำขวัญ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ตลอดจนการห้ามออกจากเคหสถานในเวลากลางคืน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ได้ส่งผลต่อการดำรงชีวิต และการหาเลี้ยงชีพของคนจนเมืองจำนวนมากที่ประกอบอาชีพในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ และไม่มีหลักประกันความมั่นคง
ทำให้นักวิจัยซึ่งเป็นคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย 6 มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดทำการสำรวจผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่การเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐ ตลอดจนการนำเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรคนจนเมือง เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค ชุมชนแออัดในพื้นที่คลองเตย และพื้นที่อื่นๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา ชลบุรี ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ รวม 18 จังหวัด
โดยใช้เวลาในการสำรวจ 4 วัน คือวันที่ 9-12 เมษายน 2563 เก็บแบบสำรวจรวม 507 ชุด แบ่งเป็นเพศหญิง 58.78% เพศชาย 38.86% ไม่ระบุเพศ และเพศทางเลือกรวม 2.37% อายุโดยเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามคือ 50 ปี ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดกระจายอยู่ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ แจกแจงหลักๆ ได้ดังนี้
– กรุงเทพมหานคร 44.77%
– สมุทรปราการ 14.40%
– เชียงใหม่ 10.65%
– ชลบุรี 8.09%
– สงขลา 6.90%
– ขอนแก่น 5.72%
– ปทุมธานี 5.33%
และอาชีพของผู้ตอบแบบสอบถาม 3 กลุ่มใหญ่ที่สุดจะเป็น รับจ้างรายเดือนแต่ไม่มีประกันสังคม 29%, รับจ้างรายวัน 24%, แม้ค้า หาบเร่ แผงลอย ขายของชำ 22%
สภาพความเป็นอยู่และการดูแลตัวเองของคนจนเมืองในวิกฤตโควิด-19
คนจนเมืองเกือบทั้งหมดของผู้ตอบแบบสอบถาม (89.90%) มีการดูแลตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน โดยแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน และมีราคาแพงด้วยการหันมาใช้หน้ากากผ้าที่มีราคาถูกกว่า โดยข้อเท็จจริงนี้ยังเป็นการหักล้างความเข้าใจที่ว่า คนจนเป็นผู้ละเลยไม่ดูแลตัวเอง และอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงของการแพร่เชื้อด้วย
ทั้งคนจนเมืองเกือบกึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (44.27%) พกเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ส่วน 26.28% ไม่พกเจลล้างมือหรือแอลกอฮอล์เมื่อออกจากบ้าน ซึ่งอาจเป็นเพราะเจลหรือแอลกอฮอล์มีราคาแพงกว่าหน้ากากอนามัยจึงมีผู้ใช้น้อยกว่า
สภาพที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองไม่สามารถที่จะจัดสรรพื้นที่หากมีสมาชิกในครอบครัวมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และต้องกักตัวเอง
– 43.79% ของผู้ตอบแบบสอบถาม บอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้พื้นที่อยู่อาศัยเป็นที่กักสมาชิกในครอบครัวโดยแยกจากคนอื่น
– 26.43% บอกว่าสภาพที่อยู่อาศัยไม่พร้อม แต่สามารถดัดแปลงได้
– 29.78% ตอบว่าที่อยู่อาศัยของตนมีความเหมาะสมหากจะต้องใช้กักสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัว แยกจากสมาชิกคนอื่นๆ
นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่ารัฐฯ จำเป็นต้องให้การดูแลกักตนเองระหว่างดูอาการนั้นมีความเป็นไปได้ ไม่เช่นนั้นอาจจะนำเชื้อไปแพร่กระจายให้สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวได้
ผลกระทบที่คนจนเมืองได้รับจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาล
จากการสำรวจของงานวิจัยครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามาตรการต่าง ๆ ของรัฐฯ ที่จำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างเข้มงวด โดยไม่มีการเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้คนจนเมืองต่างประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจอย่างมาก ในหลายประการ
– 18.87% ถูกนายจ้างเลิกจ้างให้หยุดงานโดยสิ้นเชิง
– 18% นายจ้างให้ลดเวลาทำงานและรายได้ลดลง
– 18.22% ผู้ประกอบอาชีพหาบเร่แผงลอย ไม่สามารถค้าขายได้
– 18.44% ผู้ประกอบอาชีพอิสระอาทิเช่น มอเตอร์ไซต์รับจ้าง, คนขับรถรับจ้าง มีผู้ว่าจ้างน้อยลงหรือไม่มีเลย
โดยเมื่อไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังปกติ จึงส่งผลต่อรายได้ที่ลดลง โดยผู้ตอบแบบสำรวจมีรายได้ลดลงดังนี้
– 60.24% รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด
– 31.21% รายได้ลดลงราวครึ่งหนึ่ง
จึงสรุปได้ว่าคนจนเมืองกว่า 90% ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากวิกฤตโควิด-19 มีเพียงผู้ทำงานมีเงินเดือนประจำไม่ถึงร้อยละ 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ที่ได้รับผลกระทบน้อย หรือไม่ได้รับเลย
การเข้าถึงมาตรการเยียวยาของภาครัฐฯ ของคนจนเมือง
ผลสำรวจได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคนจนเมืองจำนวนมากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐฯ โดยจำนวนคนจนเมืองที่ลงทะเบียนในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกันของรัฐบาลมีดังนี้
– 66.7% คือจำนวนคนที่พยายามลงทะเบียน
– 51.87% คือจำนวนคนที่ลงทะเบียนสำเร็จ
– 14.60% คือจำนวนคนที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ
และยังมีคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถาม 28.99% ไม่ได้ลงทะเบียน เพราะทราบว่าตนเองขาดคุณสมบัติ เช่นผู้ที่ทำงานประจำและมีสิทธิจากกองทุนประกันสังคม กับผู้ที่ว่างงานอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนจนเมืองไม่ได้เป็นคนฉวยโอกาศ เพราะเกรงว่าหากไม่มีคุณสมบัติแล้วได้รับเงินจะมีความผิดในภายหลัง นอกจากนี้ยังมีคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามอีก 4.54% ที่ไม่ทราบวิธีการในการลงทะเบียน จึงไม่ได้ลงทะเบียนขอรับสิทธิ
และหากคิดเฉพาะจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนสำเร็จมี 21.29% ได้รับการผ่านเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ ส่วนอีก 12.93% ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา โดยที่ 65.78% ของผู้ที่ลงทะเบียนขอรับสิทธิสำเร็จที่ตอบแบบสอบถาม ยังอยู่ระหว่างรอผลการสำรวจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มาตรการเยียวยาของรัฐฯ ออกมาล่าช้า ไม่ทันการณ์กับความเดือดร้อนของคนจนเมือง
ข้อเสนอแนะรัฐฯ ในการให้ความช่วยเหลือคนจนเมือง
1. รัฐบาลควรเปลี่ยนหลักคิด และวิธีการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในภาวะวิกฤตครั้งนี้จาก “การสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน” เป็น “การให้สวัสดิการถ้วนหน้า” หรือเปลี่ยนวิธีการจาก “คัดคนเข้า” เป็น “คัดคนออก” กล่าวคือแทนที่รัฐจะใช้วิธีการคัดกรองอย่างเข้มงวดว่า เฉพาะที่พิสูจน์ และผ่านการตรวจสอบว่าได้รับผลกระทบจากมาตรการกำจัดการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างชัดเจนเท่านั้น จึงจะได้รับการสงเคราะห์ รัฐควรใช้หลักคิดใหม่ว่าคนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐทั้งสิ้น ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ คงมีเฉพาะคนส่วนน้อยที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ข้าราชการประจำและพนักงานประจำรายเดือนที่ไม่ถูกลดชั่วโมงการทำงาน และยังคงมีรายได้เท่าเดิม ที่จะถูก “คัดออก” ไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ส่วนคนกลุ่มอื่น ๆ ไม่ว่าอาชีพใด หากอยู่ในวัยทำงาน คนกลุ่มนี้ควรได้รับการช่วยเหลือทุกคน เช่นหลายประเทศอย่าง สิงคโปร์, ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกาที่ต่างก็ดำเนินการในแนวทางนี้ และรัฐฯ ต้องตระหนักว่าทางภาครัฐฯ ไม่มีข้อมูลของคนกลุ่มนี้อย่างครบถ้วนและทันสมัย จึงไม่ควรยึดฐานข้อมูลของตัวเองเป็นเกณฑ์ในการตัดสิทธิของประชาชน หากแต่ควรใช้โอกาสนี้ในการสร้างฐานข้อมูล และให้การช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด แน่นอนว่าการจ่ายเงินด้วยหลักคิดใหม่นี้ ผู้ประกอบอาชีพอิสระบางรายที่ยังมีรายได้ตามปกติจะหลุดรอดเข้ามาเป็นผู้รับประโยชน์บ้าง แต่โดยภาพรวมแล้ว คนส่วนใหญ่ที่เดือดร้อนจะได้รับความช่วยเหลืออย่างถ้วนหน้า และรวดเร็ว
2. จากบทเรียนการจ่ายเงินช่วยเหลือในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน พบว่าปัญหาสำคัญคือการขาดการมีส่วนของภาคประชาชน ดังนั้นในส่วนงบประมาณที่รัฐบาลจะตั้งอีก 400,000 ล้านบาท สำหรับฟื้นฟู และเยียวยาเศรษฐกิจ โดยการจัดสรรผ่านหน่วยงานต่าง ๆ นั้น รัฐฯ ควรจัดสรรงบประมาณส่วนนี้จำนวนหนึ่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, องค์กรชุมชน, คณะกรรมการกองทุนชุมชน และหมู่บ้าน สำหรับฟื้นฟูชีวิตของคนระดับรากหญ้า ที่จำเป็นต้องมีเงินลงทุนเริ่มต้นประกอบอาชีพใหม่ และเข้าไม่ถึงเงินกู้ในระบบ
3. ข้อเสนอต่อกองทุนประกันสังคม คือกระทรวงแรงงานควรเร่งให้กองทุนประกันสังคมปฎิรูปการทำงานให้จ่ายเงินตามสิทธิของผู้ประกันตนโดยเร็ว ทุกวันนี้ผู้ประกันตนหลายคนสะท้อนความคิดเห็นตรงกันว่า “ประกันสังคมหักเงินเราตรงเวลาทุกเดือน แต่พอเราเดือดร้อนจะได้รับเงินประกันตามสิทธิกลับต้องรอเป็นเดือน”
4. รัฐควรผ่อนปรนเปิดพื้นที่ค้าขาย และการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างมีการจัดการ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดได้คลี่คลายลง และการดำเนินชีวิตของประชาชนก็ต่างตื่นตัวในการป้องกันตัวเอง ดังนั้นการเปิดพื้นที่เช่นการสวมหน้ากากอนามัย, มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมืออย่างทั่วถึง ฯลฯ จะช่วยฟื้นชีวิตทางเศรษฐกิจให้คนจนเมือง และทำให้ผู้คนในเมืองมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง และมีความปลอดภัยไปพร้อม ๆ กัน
5. รัฐฯ ควรเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในช่วงวิกฤตเช่นนี้ จากคนละ 600-800 บาทต่อเดือนตามช่วงอายุ เป็น 2,000 บาท เพราะครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุต่างก็ประสบภาวะฝืดเคืองในช่วงวิกฤตครั้งนี้ การเพิ่มเงินในส่วนนี้เข้าไประดับหนึ่ง จึงเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของครัวเรือนต่าง ๆ ได้