Saturday, June 10, 2023
More
    spot_imgspot_imgspot_imgspot_img

    เผยแนวโน้มการปรับตัวธุรกิจฟิตเนสของไทยช่วงที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม

    ยิม ฟิตเนส และสตูดิโอออกกำลังกาย เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราวเพื่อรองรับนโยบายเพิ่มระยะห่างทางสังคม ในวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยฟิตเนสหลายแห่งได้ปรับตัวผ่านการนำเสนอคลาสออกกำลังกายออนไลน์ที่สมาชิกสามารถเล่นตามที่บ้านได้ การเทรนส่วนตัวผ่าน Video Call หรือการให้สมาชิกเลือกเวลาเพื่อให้เทรนเนอร์ไปสอนที่บ้านได้ เป็นต้น นับเป็นการปรับตัวสู่สถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

    ตลาดฟิตเนสเติบโตสะท้อนไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่

    ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่มีสถิติว่านับตั้งแต่ปี 2559 – 2561 มูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจออกกำลังกายฟิตเนสมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะปี 2561 มีจำนวนมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 377 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 87 ล้านบาทคิดเป็นเพิ่มขึ้น 30% แสดงให้เห็นถึงการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจฟิตเนสซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของธุรกิจจัดตั้งใหม่


    โดยการจัดตั้งธุรกิจที่เพิ่มขึ้นนี้สะท้อนไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคซึ่งมักเลือกทำเลที่ตั้งเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้ามากขึ้นเช่นการจัดตั้งตามแนวรถไฟฟ้ามีการขยายสาขาและมีการจัดตั้งธุรกิจโดผู้ประกอบการรายเล็กเพิ่มขึ้น 

    โดยธุรกิจฟิตเนสส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวน 340 รายคิดเป็น 41.67 % กระจุกตัวอยู่แถวเขตวัฒนาจำนวน 46 รายและเขตปทุมวันจำนวน 24 ราย

    รองลงมาคือภาคใต้ 174 รายคิดเป็น 21.32% และในภูมิภาคอื่นๆพบว่ามีการกระจายตัวอยู่ในจังหวัดใหญ่เช่นภูเก็ตจำนวน 82 รายชลบุรีจำนวน 54 รายและเชียงใหม่จำนวน 37 รายตามลำดับซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชากรมีความหนาแน่นมีกำลังซื้อเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการคมนาคมสนับสนุนการใช้บริการของกลุ่มผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว

    ฟิตเนสไซส์เล็กตอบโจทย์คนเมืองรักความสะดวก

    สำหรับรายได้รวมของกลุ่มธุรกิจฟิตเนสในปี 2558-2560 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยถึง 12.40% ต่อปีซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าธุรกิจฟิตเนสขนาดเล็ก (S) มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นในอัตราที่ก้าวกระโดดถึง 37.88% และ 38.83% ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของธุรกิจที่มีฟิตเนสรายย่อยเปิดตัวมากขึ้นและกระจายตัวในย่านชุมชนเพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการออกกำลังกายใกล้บ้านไม่ต้องเสียเวลาเดินทางส่วนธุรกิจขนาดกลาง (M) เริ่มมีผลการดำเนินการที่กลับมาเป็นบวกในปี 2560

    ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ (L) ก็ยังคงมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องคิดเป็น 30.46% ในปี 2558 และอัตราเติบโตชะลอตัวลงเหลือ 5.56% ในปี 2560 ในส่วนของกำไร/ขาดทุนสุทธิในภาพรวมกลุ่มธุรกิจมีผลกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เป็นสัดส่วนสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการกลุ่มธุรกิจเป็นบวกโดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีกำไรเพิ่มสูงขึ้นมากมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 3 ปีถึง 56.48% ต่อปี

    เผยธุรกิจฟิตเนสรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัล

    ในขณะเดียวกันธุรกิจฟิตเนสก็กำลังถูก Disrupt จากเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนออกกำลังกายที่บ้านได้หนึ่งในบริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ Peloton ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้สมาชิก Stream คลาสต่างๆเพื่อให้สมาชิกออกกำลังกายในบ้านและยังจำหน่ายจักรยานและลู่วิ่งที่มีจอสัมผัสและลำโพงขนาดใหญ่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สมาชิกรู้สึกเสมือนได้เข้าไปอยู่ในคลาสกับผู้สอนจริงๆโดยจักรยานมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 2,245 ดอลลาร์สหรัฐฯแต่ลูกค้าสามารถผ่อนได้ในราคา 58 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือนได้ถึง 39 เดือนสำหรับคนที่ไม่อยากลงทุนซื้อจักรยานหรือลู่วิ่งก็สามารถโหลดแอปพลิเคชันมาเล่นคลาสต่างๆได้ด้วยราคาเพียง 12.99 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือนซึ่งถูกกว่าราคาสมาชิกรายเดือนของฟิตเนสหลายแห่ง

    นอกจากนี้ Peloton ยังใช้ครูที่มีชื่อเสียงในการสอนคลาสต่างๆและยังมีดาราเป็นสมาชิกหลายคนทำให้สมาชิกที่เล่นอยู่ที่บ้านสามารถรู้สึกว่าได้ออกกำลังกายไปพร้อมๆกับคนดังอีกด้วย

    อีกหนึ่ง Startup ที่ใช้เทคโนโลยีมาสร้างประสบการณ์ออกกำลังกายที่บ้านคือบริษัท Mirror ที่ขายเทคโนโลยีจอกระจกที่มีกล้องและลำโพงในตัวเมื่อเปิดจะแสดงคลาสและผู้สอนเพื่อให้สมาชิกเล่นตามได้แบบอินเทอร์แอคทีฟที่ผู้สอนสามารถกระตุ้นและให้กำลังใจสมาชิกได้ขณะเล่นผ่านเทคโนโลยี Motion Sensor และเมื่อปิดจอก็จะกลายเป็นกระจกเต็มตัวโดยเทคโนโลยีจอกระจกของ Mirror มีราคา 1,495 ดอลลาร์สหรัฐฯและมีค่าสมาชิก 39 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน

    ยิม/ฟิตเนส อยู่อย่างไรในวิกฤตโควิด-19

    ยังไม่ชัดเจนว่าผู้คนจะกลับไปออกกำลังกายตามปกติได้เร็วแค่ไหนเมื่อฟิตเนสและสตูดิโอออกกำลังกายต่างๆเริ่มกลับมาเปิดใหม่หรือว่าพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเมื่อผู้บริโภคลงทุนในอุปกรณ์และปรับการออกกำลังกายเพื่อให้สอดรับกับอุปกรณ์ที่มีอยู่ที่บ้านแล้วผู้บริโภคเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะยกเลิกสมาชิกฟิตเนสไปโดยเฉพาะคนที่ลงทุนในอุปกรณ์ราคาสูงเช่นจักรยานลู่วิ่งหรือชุดอุปกรณ์ยกน้ำหนักเป็นต้นนอกจากนี้ผู้ที่ไปฟิตเนสเพื่อพบปะผู้คนใหม่ๆหรือเพื่อสร้างสังคมสามารถ Join Community ใน Platform ต่างๆได้

    เมื่อสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดเป็นไปได้ว่าฟิตเนสและสตูดิโอออกกำลังกายจะยังคงได้รับผลกระทบยาวนานแม้ว่าการ Lock Down จะจบลงไปแล้วก็ตามเนื่องจากสมาชิกบางกลุ่มอาจยังกังวลที่จะกลับไปใช้บริการตามปกติอีกทั้งการหาสมาชิกใหม่ยากขึ้นด้วยภาวะเศรษฐกิจหรือการที่สมาชิกสามารถออกกำลังกายที่บ้านได้ระหว่าง Lock Down ทำให้มีแนวโน้มยกเลิกการเป็นสมาชิกรวมถึงฟิตเนสต้องมีมาตรการเพิ่มการรักษาความสะอาดที่มากขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิกซึ่งหมายถึงค่าบริหารจัดการที่สูงขึ้นด้วย

    นอกจากนี้ฟิตเนสยังมีโอกาสที่จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการจ้างเทรนเนอร์ที่ลดลงเพราะเทรนเนอร์หลายคนมีการปรับตัวโดยการไปสอนตามบ้านเพื่อหารายได้เสริมในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งการสอนส่วนตัวตามบ้านจะทำให้ลูกค้าจ่ายเงินน้อยกว่าและเทรนเนอร์ได้เงินมากกว่าเพราะไม่ต้องแบ่งเปอร์เซ็นให้กับฟิตเนส

    แนวทางปรับตัวของผู้ประกอบการฟิตเนส

    ด้านศูนย์วิจัย Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เสนอคำแนะนำ 4 ข้อสำหรับผู้ประกอบการฟิตเนสเมื่อต้องปรับตัวในช่วง Lock Down และเว้นระยะห่างทางสังคมดังนี้

    1.เพิ่มบริการเช่าหรือยืมอุปกรณ์ออกกำลังกายสำหรับการออกกำลังกายที่บ้านของสมาชิกเพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์เองโดยเป็นบริการเพิ่มเติมนอกเหนือคลาสและการสอนตัวต่อตัวออนไลน์ในช่วงที่ฟิตเนสยังต้องปิดตัวอยู่เช่น crossfit ยิมที่สก็อตแลนด์อนุญาตให้สมาชิกยืมอุปกรณ์ไปเล่นที่บ้านได้แม้แต่เครื่องกรรเชียงบก

    2.ออกมาตรการสร้างระยะห่างโดยการจำกัดจำนวนสมาชิก, เทรนเนอร์ในพื้นที่และลดจำนวนคนเข้าในแต่ละคลาสเมื่อกลับมาเปิดให้บริการในระยะแรกโดยฟิตเนสในจีนที่เพิ่งเริ่มเปิดกลับมาระยะแรกก็จำกัดจำนวนสมาชิกที่เข้าได้ครั้งละไม่เกิน 3 ชั่วโมงโดยสมาชิกต้องจองเวลาใช้ไว้ก่อน

    3.จัดทำเกณฑ์ในการขยายเวลาพักการเรียกเก็บค่าสมาชิกหรือยืดเวลาการเป็นสมาชิกให้แก่ลูกค้าบางกลุ่มที่อาจจะยังกังวลที่จะกลับไปใช้บริการตามปกติโดยอาจจะพิจารณาจากกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงก่อนเช่นผู้สูงอายุและผู้มีปัญหาด้านสุขภาพเป็นต้น

    และ 4.สื่อสารกับลูกค้าด้านมาตรการเว้นระยะห่างและรักษาความสะอาดอย่างต่อเนื่องตลอดจนอบรมและกำชับพนักงานด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด

    ทั้งนี้เมื่อฟิตเนสและสตูดิโอต่างๆสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้แล้วทั้งสมาชิกเทรนเนอร์และเจ้าของธุรกิจล้วนอยากกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ

    อย่างไรก็ตามยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อระลอกใหม่ที่อาจจะส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้นโยบายปิดธุรกิจอีกครั้งนอกจากนี้ผู้ประกอบการจะต้องจับตาดูเทรนด์เทคโนโลยีและเทรนด์การเปลี่ยนไปใช้การออกกำลังกายออนไลน์เพื่อนำเสนอตัวเลือกใหม่ๆให้แก่สมาชิกเช่นนำเสนอคลาสออนไลน์สำหรับคลาสที่เป็นที่นิยมเพื่อให้สมาชิกสามารถเล่นเองที่บ้านหรือเล่นที่สาขาอื่นได้นำเทคโนโลยีการออกกำลังกายใหม่ๆมาให้สมาชิกลองใช้หรือแม้กระทั่งสมัครเป็นผู้แทนจำหน่ายเทคโนโลยีและนำเสนอคลาสที่ปรับให้เข้ากับลูกค้าคนไทย

    สุดท้ายผู้ประกอบการธุรกิจควรพิจารณาพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ผสมผสานการออกกำลังการทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ให้ยืดหยุ่นต่อความต้องการและพฤติกรรมการออกกำลังกายของคนยุคใหม่ให้ได้