ในช่วงสถานการณ์ที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ต่อเนื่อง หลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่างระดมกำลังเพื่อคิดค้นงานวิจัย สร้างนวันกรรม และสิ่งประดิษฐ์ เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหา และป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล
โดยนวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ฝีมือคนไทยที่หลายหน่วยงานคิดค้น และพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ อาทิ
นวัตกรรมประเภทอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สวมใส่ สจล. ผุด AI ตรวจสอบคุณภาพการผลิตหน้ากากอนามัย
สจล. ผุดนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับตรวจสอบคุณภาพการผลิตหน้ากากอนามัย แทนแรงงานคนที่มีความเสี่ยงเรื่องการควบคุมมาตรฐานความสะอาดในการผลิต เพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบ และเพิ่มกำลังการผลิต แก้ปัญหาภาวะหน้ากากอนามัยขาดตลาด ซึ่งมีส่วนช่วยในกระบวนการผลิตหน้ากากอนามัยให้ทันต่อความต้องการการใช้ในสถานพยาบาล รวมถึงประชาชนทั่วไป ภายใต้ “โครงการ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ไร้ขีดจำกัด” (KMITL 60th Year: Go Beyond the Limit) ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม และทันสถานการณ์ จะช่วยดิสรัปต์ภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้
โดยระบบการตรวจสอบ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ การตรวจสอบมาตรฐานกระบวนการผลิต และการตรวจสอบคุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย ซึ่งการทำงานของ AI จะช่วยรักษามาตรฐานความสะอาดในกระบวนการผลิต ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อโรคจากการใช้แรงงานคน เพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบคุณภาพการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิต ซึ่งจะช่วยให้การผลิตหน้ากากอนามัยทันต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของผู้ที่มีความจำเป็นในการใช้งานอย่างบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนทั่วไป
จุฬาฯ คิดค้นสเปรย์ฉีดพ่นหน้ากากผ้า ป้องกันไวรัส
ขณะที่ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และทีมวิจัย ได้คิดค้นนวัตกรรมสเปรย์ใช้สำหรับพ่นหน้ากากผ้า หรือ ชีลด์พลัส โพรเทคติ้ง สเปรย์ (Shield+Protecting Spray) ปราศจากสารที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ โดยสเปรย์จะทำหน้าที่เป็นตัวกรองของหน้ากากผ้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัส น้ำ และละอองสารคัดหลั่ง
ซึ่งจากการทดสอบประสิทธิภาพเบื้องต้นพบว่าหน้ากากผ้าที่ผ่านการพ่นด้วย Shield+ Protecting Spray เกิดการเชื่อมต่อของเส้นใยผ้ามากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอนเพิ่มขึ้น 83% และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกรองเชื้อโรคในน้ำลายและในอากาศได้มากขึ้น 93% และ 142% ตามลำดับ ทั้งนี้ Shield+ Protecting Spray จะถูกผลิต และแจกจ่ายจำนวน 10,000 ขวด ซึ่งสามารถใช้พ่นหน้ากากผ้าได้รวม 240,000 ชิ้น ให้กับทีมสนับสนุนบริการทางการแพทย์ พนักงานขับรถส่งของให้กับโรงพยาบาล ตำรวจและทหารประจำด่านสกัด COVID-19 และพนักงานเก็บขยะที่ช่วยดูแลจัดการของเสียจากครัวเรือน
วชิรพยาบาล พัฒนาหน้ากากอนามัยไส้กรอง N99 จากซิลิโคน, หมวกปรับแรงดันบวก และ ชุด PPE ต้นทุนต่ำ แต่คุณภาพเทียบเท่าวัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ
โดยหน้ากากอนามัยไส้กรอง N99 เป็น 1 ใน 4 นวัตกรรม ที่คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พัฒนาขึ้นโดยการหล่อหน้ากากซิลิโคนที่สามารถผลิตได้เองในประเทศไทย ต่อเข้ากับ HEPA Filter ของเครื่องช่วยหายใจ ยึดติดให้แนบหน้าด้วยยาง 2 เส้นเช่นเดียวกับหน้ากาก N95 โดยมีต้นทุนในการหล่อหน้ากากซิลิโคนเพียง 100-200 บาท ขณะที่ HEPA Filter ปัจจุบันยังต้องนำเข้า แต่อนาคตประเทศจะสามารถผลิตได้เอง ก็จะทำให้ต้นทุนรวมลดต่ำลง โดยหน้ากากอนามัยไส้กรอง N99 มีกำลังการผลิตราว 200 ชิ้นต่อวัน คาดว่าภายในเวลา 1 สัปดาห์สามารถผลิตได้เพียงพอต่อการส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะกับโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ยังขาดแคลน
ขณะเดียวกันยังมีหมวกปรับแรงดันบวกสำหรับใช้ในห้องผ่าตัด (Powered Air-Purifying Respirator – PAPR) อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สวมใส่เพื่อการต่อท่อหายใจให้กับคนไข้ติดเชื้อรุนแรง ซึ่งคณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล สามารถผลิตได้ด้วยงบประมาณเพียง 2 พันบาท จากที่ต้องซื้อจากต่างประเทศในราคา 5 หมื่นบาท โดยมีจุดต่างเพียงแค่วัสดุคลุมหมวกที่เป็นผ้าใบ แต่คุณภาพการใช้งานไม่ต่างกัน
รวมถึง ชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE เป็นนวัตกรรมการผลิตชุดป้องกันจากเกรด 4 ขึ้นเป็นเกรด 5 หรือ Medical Grade ที่เปลี่ยนวัสดุจากไฟเบอร์ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มาเป็นพลาสติกสปันบอนด์ที่สามารถกันน้ำได้ โดยได้รับการทดสอบจากสถาบันบำราศนราดูรว่าสามารถใช้ได้ไม่ต่างจากชุดป้องกันเกรด 5 โดยต้นทุนของการผลิตชุด PPE อยู่ในราวชุดละกว่า 100 บาท
นวัตกรรมประเภทเตียง/ตู้ความดันลบ วสท. สร้างต้นแบบตู้ความดันลบ ให้ รพ. ลดเสี่ยงแพทย์พยาบาล
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พัฒนานวัตกรรมต้นแบบ “ตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet)” เพื่อใช้ครอบเตียงผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมุ่งใช้เป็นห้องอเนกประสงค์บรรเทาความแออัดในสถานพยาบาล และป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ใช้กับกลุ่มเสี่ยง การกักตัว และใช้ในบ้านสำหรับประชาชนทั่วไปด้วย โดยแบบมาตรฐานนี้หน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนสามารถนำไปผลิตใช้เองได้
ซึ่งตู้ความดันลบ ดังกล่าว ได้ออกแบบให้มีความปลอดภัยทางการแพทย์และหลักวิศวกรรม ในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้งใน และนอกสถานที่ โดยมี 2 แบบ คือ แบบที่ 1 ตู้ความดันลบขนาดเล็ก สำหรับ 1 เตียง หรือคนไข้นั่ง 3 – 4 คน ขนาด 1.30 x 2.60 x 2.20 เมตร เพียงพอที่จะใส่เตียงคนไข้ และเสาน้ำเกลือ มีน้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ใช้เวลาในการติดตั้งเพียง 15 นาที ใช้ต้นทุนประมาณ 8,500 บาท หากต่อเป็น 2 ยูนิตโดยใช้เสากลางร่วมก็จะยิ่งลดต้นทุนให้ต่ำลงอีก
ส่วนแบบที่ 2 ตู้ความดันลบขนาดใหญ่ เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการดูแลรักษาผู้ป่วย ขนาด 1.90 ม.x 2.60 ม.X สูง 2.20 ม. พร้อมพื้นที่ส่วนของแพทย์พยาบาลไว้ด้วย (Ante room) ด้านหน้าประตูเข้าห้องคนไข้ ขนาดความกว้าง 0.90 ม.x 2.60 ม.X สูง 2.20 เมตร ตามมาตรฐานความสะอาด ลมจะไหลจากด้านนอกเข้าไปที่ห้อง Ante และไหลเข้าห้องคนไข้ พัดลมจะนำอากาศจากห้องคนไข้ไปทิ้งนอกอาคาร ใช้ต้นทุนประมาณ 10,000 บาท
ทั้งนี้ วสท. ได้ส่งมอบตู้ความดันลบ ทั้ง 2 แบบแก่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า และโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และจะส่งมอบให้โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพพบก และโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไป
ฮอนด้าไทย เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ ช่วยผลิตเตียงแรงดันลบ พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์รวม 40 ล้านบาท
โดยโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ระดมพนักงานจากสายการผลิตที่หยุดการประกอบรถยนต์ชั่วคราว จัดตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อผลิตเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ (Negative Pressure Mobile Bed) จำนวน 100 เตียง ภายใต้การควบคุมคุณภาพการผลิตของคณะแพทยศาสต์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ซึ่งคุณสมบัติของเตียงนี้จะสามารถช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ด้วยการควบคุมแรงดันอากาศให้เป็นลบ (Negative Pressure) ทำการดูดอากาศบริเวณที่นอนของผู้ป่วยผ่านการกรองเชื้อโรคระดับ HEPA Filter (High-efficiency Particulate Air Filter) แล้วปล่อยอากาศออกสู่ภายนอก
นอกจากนี้ยังผนึกกำลังจิตอาสาพนักงาน และภาคส่วนต่างๆ อาทิ กรมราชทัณฑ์ เพื่อร่วมผลิตและส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลนอื่นๆ ให้โรงพยาบาล 48 แห่งทั่วประเทศ และจัดบริการรถพยาบาลกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย จำนวน 10 คัน เพื่อใช้สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผุดตู้ความดันลบเก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยติดเชื้อ ป้องกันไวรัสได้มากกว่า หน้ากาก N95 ถึง 1 พันเท่า
ตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 เป็นทางเลือกที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้บุคลากรทางการแพทย์ในการเก็บสารคัดหลั่งต่างๆ จากคอหอย และโพรงจมูกของคนไข้มาตรวจ โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรคให้อยู่แต่เฉพาะในตู้นี้เท่านั้น สามารถเคลื่อนย้ายเพื่อความสะดวกในการใช้งาน
โดยวัสดุที่ใช้ทำตู้เป็นอะคริลิกหนา 15 มิลลิเมตร ซึ่งทนต่อน้ำยาฆ่าเชื้อ มีลักษณะใส สามารถมองเห็นได้จากภายนอก ภายในตู้มีเครื่องดูดอากาศผ่าน HEPA Filter เกรดที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งสามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กเท่าไวรัสได้ 99.995% โอกาสที่ไวรัสจะหลุดรอดจากฟิลเตอร์แทบจะเป็น 0% นอกจากนี้ยังมีการฆ่าเชื้อด้วยหลอด UV-C ทำให้ไวรัสหมดความสามารถในการก่อโรค เมื่อเทียบกับหน้ากาก N95 ที่สามารถกรองอนุภาคได้ขนาด 0.3 ไมครอน ตู้นี้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสมากกว่า 1 พันเท่า
ซึ่งปัจจุบันได้มีการผลิตตู้มาใช้งานที่ รพ.จุฬาลงกรณ์แล้ว 8 เครื่อง จำนวนตู้ที่ผลิตทั้งหมด 50 เครื่อง ซึ่งจะใช้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 10 เครื่อง ที่เหลือจะกระจายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ฯลฯ ค่าใช้จ่ายในการผลิตตู้ละ 100,000 บาท โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัท TCP ในส่วนของการออกแบบสร้างตู้สำหรับตรวจ COVID-19 ซึ่งหากมีผู้ที่สนใจต้องการจะนำไปผลิตหรือปรับปรุงเพื่อใช้งานทางการแพทย์ ก็สามารถนำไปใช้ต่อได้
นวัตกรรมประเภทหุ่นยนต์ ทอ. ส่งหุ่นยนต์ “น้องถาดหลุม” ให้ รพ.ทอ.ดูแลผู้ป่วย COVID-19
สำหรับหุ่นยนต์เพื่อการพยาบาลผู้ป่วย COVID-19 (RTAF Nursing Bot) หรือ “น้องถาดหลุม” ทีมงานวิจัยของโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาล สามารถติดต่อสื่อสาร หรือสอบถามอาการกับผู้ป่วยได้สะดวกขึ้น โดยมีขีดความสามารถในการลำเลียงส่งอาหาร ยา เสื้อผ้า วัดปริมาณออกซิเจนในเลือดแก่ผู้ป่วย COVID-19 ควบคุมการเคลื่อนที่ด้วยการบังคับวิทยุไปยังเตียงผู้ป่วย ตรวจวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ พร้อมการทำงานของระบบจดจำใบหน้า จากนั้นระบบจะบันทึกอุณหภูมิที่วัดได้ พร้อมวันเวลาที่ตรวจวัดลงบนภาพใบหน้าผู้ป่วย และนำไปเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูล ซึ่งแพทย์และพยาบาล สามารถเข้าดูทางโทรศัพท์มือถือได้ตลอดเวลา
โดย “น้องถาดหลุม” จะถูกส่งมอบให้กับเจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ จำนวน 3 ตัว เพื่อมอบให้โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) นำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย COVID-19 ต่อไป
หุ่นยนต์ปิ่นโต “Pinto” ผู้ช่วยแพทย์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19
หุ่นยนต์ “Pinto” ปิ่นโต Quarantine Delivery robot เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยการนำรถเข็นส่งอาหารผู้ป่วย มาปรับระบบการควบคุมการเคลื่อนที่ โดยติดตั้งระบบสื่อสาร Quarantine Tele-presence สำหรับดูแลผู้ป่วยระยะไกลกับแพทย์ และพยาบาล โดยตั้งเป้าผลิตจำนวน 100 ชุดเพื่อมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ
ซึ่ง จุฬาฯ ได้ขอพระราชทานน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายหุ่นยนต์ปิ่นโต แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ตามพระราชอัธยาศัย จำนวน 20 ตัว ที่ยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการผลิต ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานหุ่นยนต์ปิ่นโตจำนวน 1 ตัว สร้างเสร็จเรียบร้อยพร้อมใช้งานแล้ว นำไปติดตั้งที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
นอกจากนี้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังพัฒนา และผลิตอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ที่มีความจำเป็นสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโรคระบาดโควิด-19 เช่น เครื่องทดแทนเครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
ขณะที่โต้โผระดมพลังนักวิจัยสู้ภัยโควิด-19 อย่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ทั้งยังเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางด้านวิชาการและวิจัย (RKEOC) ปฏิบัติภารกิจด้านข้อมูลทางวิชาการเชื่อมเข้ากับกลไกของกระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานระดับนานาชาติ ทั้งเผยแพร่สถานการณ์ และองค์ความรู้กับประชาชน และร่วมกับกรมควบคุมโรคด้านการวิจัย ได้ระดมพลังนักวิจัยสู้ภัยโควิด-19 โดยจัดสรรงบประมาณ 250 ล้านบาท ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการ 5 เรื่อง อาทิ อ่านรหัสพันธุกรรม–ติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อในไทย, พัฒนาแบบจำลองเพื่อคาดการณ์การระบาด, จัดทำชุดตรวจวินิจฉัย, พัฒนายา–วัคซีน และจัดเวชภัณฑ์–ระบบการจัดการ ตลอดจนประเมินผลมาตรการทั้งในเชิงนโยบายและทางปฏิบัติ มุ่งหาแนวทางแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีข้อมูลทางวิชาการเพิ่มขึ้นถึง 5,000 เรื่องจากทั่วโลกที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ซึ่งศูนย์ฯ มีหน้าที่วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เหล่านั้น และคัดสรรข้อมูลส่วนที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลที่จะพร้อมใช้ แต่ก็ยังมีความรู้บางประการที่ประเทศไทยต้องการซึ่งหาไม่ได้เลยจากแหล่งข้อมูล จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม
นี่เป็นเพียงแค่ผลงานบางส่วนที่ BLT Bangkok รวบรวมมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจ ไม่ทอดทิ้งกันในยามเกิดวิกฤติ และยังทำให้เราได้เห็นถึงความรู้ความสามารถด้านนวัตกรรมของคนไทยที่คิดค้นเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ออกมาได้ในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม และสนับสนุนให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหล่านี้ได้รับโอกาสในการแสดงผลงาน หรือศึกษาเพื่มเติม เพื่อสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติได้อีกในอนาคต