วันที่ 24 เมษายน 2563 ที่สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันราศนราดูร ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องการตรวจเชื้อโควิด-19 ในน้ำลาย ซึ่งทางหน่วยงานที่ทั้ง 3 คนสังกัดได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา เพื่อสร้างความรวดเร็วในการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 และรับมาตรการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก
ตรวจหาโควิด-19 ในน้ำลาย ได้ผลแม่นยำ มีการยอมรับในหลายประเทศ
การตรวจหาโควิด-19 ในน้ำลาย เป็นวิธีที่ทางกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันราศนราดูร ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา ซึ่งวิธีการตรวจดังกล่าวได้รับการทำวิจัยจากโรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่าได้ผลแม่นยำ มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับวิธีการตรวจจากสารคัดหลั่งจากจมูกและคอ หรือวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรม (RT-PCR) ซึ่งวิธีการตรวจหาเชื้อในน้ำลายนี้ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ และมีข้อดีคือราคาถูก เก็บตัวอย่างง่ายกว่า สามารถเก็บได้ด้วยตัวเอง ทำให้บุคลากรปลอดภัยมากขึ้น ไม่ต้องใช้หรือลดการใช้ชุดป้องกัน PPE
สำหรับวิธีการเก็บน้ำลาย สามารถนำกระป๋องไปเก็บเองได้ที่บ้าน โดยต้องล้างมือให้สะอาด แล้วเทอาหารสำหรับเก็บตัวอย่างไวรัสลงในกระป๋องเก็บน้ำลาย และขากน้ำลายที่อยู่ในคอส่วนลึกเหมือนขากเสมหะ แล้วปิดฝากระป๋องพันด้วยพาราฟิล์ม และใส่ถุงซิปล็อก 3 ชั้น ก่อนนำส่งห้องปฎิบัติการภายใน 5 ชั่วโมง โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่แปรงฟัน ใช้น้ำยาบ้วนปาก ดื่มน้ำ หรือเคี้ยวหมากฝรั่งก่อนเก็บน้ำลาย
ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกด้วยการตรวจหาโควิด-19 ในน้ำลาย
ทางกระทรวงสาธารณสุขจะใช้การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในน้ำลายกับกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และการค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการในชุมชน ซึ่งจะทำให้ค้นหาผู้ป่วย / ผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว สามารถนำเข้าสู่ระบบการรักษา และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และพร้อมเริ่มดำเนินการได้ทันทีทุกพื้นที่ที่มีการระบาด ชุมชนแออัด หรือจุดเข้า-ออกของประเทศ ส่วนผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคหรือ PUI คือการมีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจที่ต้องมาตรวจรักษาในสถานพยาบาล จะยังใช้วิธีเก็บสิ่งตรวจจากสารคัดหลั่งจมูก และคอเป็นหลักเหมือนเดิม