ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยว่าในปี 2018 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนรวมกัน 22,491 คน หรือคิดเป็นต่อประชากรแสนคน ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในอาเซียน โดยปัจจัยอย่างหนึ่งมาจากการไม่สวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่รถจักรยานยนต์นั่นเอง
เหตุใดคนไทยจึงสวมหมวกกันน็อกไม่ถึง 50%
แม้ว่าตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมรวมถึงกฎกระทรวง ฉบับปี พ.ศ. 2535 จะกำหนดโทษของผู้ขับขี่ และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกกันน็อกหรือ ‘หมวกนิรภัย’ ไว้ที่ปรับเงิน 500 บาท (ถ้าเป็นผู้ขับขี่และไม่ให้ผู้โดยสารใส่หมวกกันน็อกจะปรับเพิ่ม อีกเท่าตัวเป็น 1,000 บาท) รวมถึงการที่ภาครัฐออกมารณรงค์การสวมหมวกกันน็อกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานับสิบปี โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งรัฐบาลเดินหน้าโครงการ ‘สวมหมวกนิรภัย 100%’ ทั้งผ่านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การบังคับใช้กฎหมาย จับ-ปรับ ไปจนถึงการแจกหมวกนิรภัยให้ใช้ฟรี นับแสนใบนั้น
จากข้อมูลจากการสำรวจโดยมูลนิธิไทยโรดส์ เครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจัดทำต่อเนื่องระหว่างปี พ.ศ. 2553-2561 โดยสำรวจผู้ใช้ รถจักรยานยนต์รวม 1.53 ล้านคัน ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ทั่วประเทศพบว่า แม้แนวโน้มการสวมหมวกนิรภัยของคนไทยจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งหากนับรวมทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร โดยระหว่างปี พ.ศ. 2553-2561 เฉพาะผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัยลดลงจาก 53% เป็น 52% เฉพาะผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นจาก 19% เป็น 22% และถ้านับรวมทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่สวมหมวกนิรภัยจะเพิ่มจาก 44% เป็น 45%
หรือความเสี่ยงในการเดินทางอาจเกิดจากความเหลื่อมล้ำในสังคม
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ประเมินตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากความสูญเสียเพราะอุบัติเหตุทางถนน เมื่อปี พ.ศ.2560 โดยประเมินจากความเต็มใจที่จะจ่ายเพื่อลดอุบัติเหตุในพื้นที่ คิดเป็นกรณีเสียชีวิต 10 ล้านบาท และกรณีบาดเจ็บ 3 ล้านบาท และเมื่อนำตัวเลขดังกล่าวไปคำนวณกับจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส เพราะอุบัติเหตุทางถนน ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2556 จะพบว่าในแต่ละปีจะมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพราะอุบัติเหตุทาง ถนนราว 5.4 – 5.6 แสนล้านบาท คิดเป็นตัวเลขราว 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP
อย่างไรก็ตามหากจะถอยไปมองที่มาของอุบัติเหตุทางถนนส่วนหนึ่ง จะพบว่าเกิดขึ้นเพราะความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยพบว่าแนวโน้มการเสียชีวิตของเด็กและเยาวชนจากอุบัติเหตุทางมอเตอร์ไซค์ เคลื่อนย้ายจากภาคที่มีรายได้สูงไปยังภาคที่มีรายได้ต่ำกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยนพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ให้ข้อมูลว่าจากการศึกษาโดย WHO นั้น การใส่หมวกกันน็อกอย่างถูกวิธีจะช่วยลดการบาดเจ็บศรีษะในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุได้ถึง 72% และลดการเสียชีวิตได้ถึง 39% ทั้งในส่วนของประเทศไทยนั้น พบว่าการสวมหมวกกันน็อกจะช่วยลดการเสียชีวิตให้ผู้ขับขี่ได้ถึง 43% และลดการเสียชีวิตของผู้ซ้อนได้ถึง 58% เลยทีเดียว