โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นมาตรการที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองที่อยู่ในครอบครัวยากจน ด้วยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตรคนละ 600 บาท ต่อเดือน ซึ่งจะจ่ายให้ทุกเดือนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ
รัฐแจกเงินอุดหนุนบุตรลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นนโยบายสำคัญระดับชาติตามแผนบูรณาการการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ซึ่งเป็นการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) โดยจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนให้กับเด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจน หรือครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจน รวมทั้งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นการประกันสิทธิให้เด็กได้รับสิทธิโดยตรง ทั้งด้านการอยู่รอด แล้วยังเป็นการสร้างช่องทางให้เด็กเข้าถึงสิทธิในเรื่องอื่นๆ ตามมา เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สามารถนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ทั้งทางด้านสุขภาพ โภชนาการ เครื่องนุ่มห่ม และอุปกรณ์เครื่องมือในการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก
โดยคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 เห็นชอบหลักการของโครงการ โดยให้เงินอุดหนุนบุตรที่อยู่ในครัวเรือนยากจน หรือครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจน
ล่าสุด นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ว่า เงินอุดหนุนบุตร รอบเดือนมิถุนายน 2563 ออกวันที่ 10 มิถุนายน 2563 (600 บาทต่อเดือน) ส่งคำขอเงินอุดหนุนบุตร จำนวน 1,459,737 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,136,409,200 บาท
นอกจากนี้ ในรอบเดือนกรกฎาคม ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 จะมีเงินเข้าบัญชีสมบทอีก 1,000 บาท รวมเป็น 1,600 บาท หลังจากนั้นจะได้รับเงินในจำนวนปกติ คือ 600 บาท จนบุตรมีอายุถึง 6 ขวบ
ใครคือผู้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนบุตร
- เด็กสัญชาติไทย หรือบิดาของเด็กแรกเกิดที่มีสัญชาติไทย (กรณีหญิงตั้งครรภ์ หรือมารดาของเด็กแรกเกิด เป็นหญิงต่างด้าว หรือบุคคลไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร์) เป็นบุคคลที่รับเด็กแรกเกิดไว้ในความอุปการะเพื่อเลี้ยงดูอย่างบุตร
- เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ รายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคนต่อปี ผู้ปกครองที่มีสิทธิ์ลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (เดิมไม่เกิน 36,000 บาท ต่อคนต่อปี) ไม่เป็นผู้ได้รับเงินช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตรจากหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรืออยู่ในความอุปการะของหน่วยงานของรัฐ
- เด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2561 ที่เคยลงทะเบียนได้สิทธิ์รับเงินแล้ว ไม่ต้องมาลงทะเบียนใหม่ จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมโดยอัตโนมัติ
- เด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2561 ที่ยังไม่เคยลงทะเบียน หากมาลงทะเบียนจะได้รับเงินตั้งแต่เดือนที่ได้รับอนุมัติ
- เด็กที่เกิดตั้งแต่หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2561-30 กันยายน 2562 ทั้งนี้ หากลงทะเบียนก่อน 30 กันยายน 2562 จะได้รับสิทธิ์ตั้งแต่เดือนเกิด (มีจ่ายย้อนหลังจนถึงวันเกิดเด็ก) หรือ หากลงทะเบียนหลัง 30 กันยายน 2562 จะได้รับสิทธิ์ตั้งแต่เดือนที่ลงทะเบียน ไม่มีจ่ายย้อนหลัง
สามารถตรวจสอบสถานะเงินอุดหนุนบุตรของผู้ลงทะเบียนได้ด้วยตนเองที่ http://csgcheck.dcy.go.th
ประชากรไทยลดลง รัฐสนับสนุนให้มีลูกเพิ่ม
ด้านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานประมาณการณ์ประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553 – 2583 คาดการณ์ว่าประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคน ในปี 2563 เป็น 67.2 ล้านคน ในปี 2571 ขณะที่ประชากรจะเริ่มลดลงในอัตรา -0.2% ต่อปี ทำให้ในปี 2583 คาดการณ์โดยประมาณว่าประเทศไทยจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน โดยแบ่งตามโครงสร้างประชากร ดังนี้
- วัยเด็ก (แรกเกิด – 14 ปี) มีแนวโน้มลดลง จากจำนวนรวมในปี 2563 มีจำนวนประชากรเด็ก 11.2 ล้านคนหรือ 16.9% ของประชากรทั้งหมดจะลดลงเป็น 8.4 ล้านคน หรือสัดส่วนเหลือแค่ 12.8% ในปี 2583
- ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคนหรือ 65 % ในปี 2563 เป็น 36.5 ล้านคนหรือ 56% ในปี 2583 ลดลงประมาณ 6.7 ล้านคน
- ประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคน หรือ18% ของจำนวนประชากรทั้งหมดนั้นจะเพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน หรือ 31.28% ของจำนวนประชากรในปี 2583
ขณะที่อัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน
จะเห็นว่า อนาคตประชากรไทยจะลดลงจากอัตราการเกิดที่มีแนวโน้มลดลง และจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ภาครัฐจึงสนับสนุนการมีบุตร โดยออกมาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนการมีบุตร โดยให้ปรับเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไปของผู้มีเงินได้ ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ให้หักลดหย่อนเพิ่มได้อีก 30,000 บาทต่อคนต่อปี จากเดิมที่ให้หักลดหย่อนได้อยู่แล้ว 30,000 บาท
ขณะเดียวกันสำหรับเด็กแรกเกิดในครอบครัวยากจน ได้จัดสวัสดิการเงินอุดหนุนในครัวเรือนยากจน หรือครัวเรือนที่เสี่ยงต่อความยากจน รวมทั้งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นการประกันสิทธิให้เด็กได้รับสิทธิโดยตรง