ชายหาดที่เป็นหมุดหมายสำคัญอีกแห่งของนักท่องเที่ยวอย่าง “จอมเทียน” กำลังได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง หลังนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ติดตามการดำเนินโครงการเสริมทรายหาดพัทยา เมืองพัทยา และตรวจความพร้อมก่อนดำเนินโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะบริเวณชายหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี
เสริมทรายหาดหาดจอมเทียน กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
สำหรับโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน จะดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นการเสริมทรายชายหาดจากด้านทิศใต้ของหาดขึ้นมาทางทิศเหนือ มีความยาวประมาณ 3.5 ก.ม. ความกว้างประมาณ 50 ม. และก่อสร้างแหล่งสํารองทราย ความยาว 225 ม. พร้อมติดตั้งระบบป้องกันชายหาดแห้ง รวมถึงติดตั้งท่อระบายนํ้าเชื่อมต่อท่อระบายนํ้าเดิม รวมพื้นที่ดำเนินการ จำนวน 112 ไร่ มีระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเดือน ก.ค. 63 แล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 65
โดยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จนอกจากจะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ และชายหาดจอมเทียนให้กลับมามีความสวยงามแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชายหาดจอมเทียน กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้สู่ประเทศอีกด้วย
เงิน 1 บาท ที่ใช้ในการลงทุนเสริมชายหาดจอมเทียน จะเกิดรายได้คืนกลับ 3.20 บาท
โดยเมื่อคำนวณตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว พบว่าเงิน 1 บาท ที่ใช้ในการลงทุนเสริมชายหาดจอมเทียน จะก่อให้เกิดรายได้คืนกลับสู่ระบบเศรษฐกิจ 3.20 บาท
ทั้งนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า เร่งดำเนินการเพิ่มเติม ในเรื่องของสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งก่อนเริ่มและระหว่างดําเนินงาน
อีกทั้งยังกำชับให้คํานึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการ และชุมชนโดยรอบ และต้องมีมาตรการรองรับ โดยในระหว่างดําเนินงาน ไม่ควรให้มีผลกระทบต่อทัศนียภาพชายหาด บรรยากาศการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว หรือให้กระทบน้อยที่สุด และให้เร่งรัดดําเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
สำหรับโครงการก่อสร้างเสริมทรายชายหาดพัทยา ที่ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2562 มีความยาว 2.8 ก.ม. ความกว้าง 35 ม. ปริมาณทราย 363,470 ลบ.ม. ทำให้มีพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยวบริเวณโครงการเพิ่มขึ้นกว่า 98,000 ตร.ม สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดได้เพิ่มขึ้น รองรับปริมาณนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ช่วยลดความแออัดของนักท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้สู่ประเทศ และป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ดียิ่งขึ้น