ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้มูลค่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งถึงมือผู้บริโภค Last-mile Delivery ในปี 2563 จะอยู่ที่ 14,400-15,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 15-18% จากปัจจัยกระตุ้นของมาตรการ Physical Distancing เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเร่งให้ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนไปซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ตลาดบรรจุภัณฑ์ รองรับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับ Last-mile Delivery (รายรับของผู้ประกอบการ) ในปี 2563 น่าจะอยู่ที่14,400-15,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 15-18% ต่อเนื่องจากที่ขยายตัว 20% ช่วงเดียวกันในปี 2562 โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนที่มีมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นกว่าคาดการณ์ในกรณี Normal Case ที่ไม่มีการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์สำหรับ Last-mile Delivery ในช่วง 3 เดือนนี้ เติบโตจาก Normal Case ที่ 8.8% และพุ่งขึ้น 38.3%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
อย่างไรก็ดี กำลังซื้อที่อ่อนแรงซึ่งทำให้ผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย คาดว่าอาจทำให้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ Last-mileDelivery ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงสิ้นปี 2563 เติบโตชะลอลงเมื่อเทียบกับ Normal Case แต่ยังเพิ่มขึ้น 11.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนสอดคล้องกับภาพธุรกิจ E-Commerce และ Last-mile Delivery
อย่างไรก็ดี ธุรกิจยังต้องเผชิญการแข่งขันที่เข้มข้นเนื่องจากเป็นตลาดที่มีจำนวนผู้เล่นมากราย ทำให้มีการแข่งขันด้านราคาของสินค้าเป็นสำคัญ เนื่องจากการผลิตบรรจุภัณฑ์ Last-mile Delivery ส่วนใหญ่ยังเป็นการผลิตอย่างง่ายและมีความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ไม่มากนัก
ดังนั้น เพื่อตอบสนองการแข่งขันในธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความต้องการใช้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวเชิงรุกและใช้กลยุทธ์ที่มีความยืดหยุ่นเพื่อตอบรับโอกาสทางการตลาดได้ในหลากหลายรูปแบบ ดังนี้ 1) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้งานแบบ Customizationให้บรรจุภัณฑ์มีรูปแบบและคุณสมบัติเหมาะสมกับสินค้าแต่ละชนิด และ 2) การให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ฉลาก และอุปกรณ์ป้องกันสินค้า รวมถึงการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้ประกอบการรายย่อยกับธุรกิจขนส่งสินค้า