กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ นับเป็นก้าวที่สำคัญและยืนยันได้ว่าการพัฒนางานด้านวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยจะสามารถเดินหน้าได้อย่างก้าวกระโดดจนเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติ และนานาประเทศ อีกทั้งส่งเสริมงานด้านการวิจัยและการบริการวิชาการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ให้ประสบความสำเร็จและบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
สถิติสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นมากกว่า 1 พันตัว ในปี 62 – 63 พบเป็นซากสะสมกว่า 970 ตัว
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวภายหลังการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ว่า จากรายงานสถิติสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากที่พบการเกยตื้น ช่วงปี 2562 – 2563 พบสัตว์ทะเลหายากจำพวกเต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ เกยตื้น ชนิดพบเป็นซากสะสมกว่า 970 ตัว สามารถช่วยรอดชีวิตได้ 473 ตัว และสามารถปล่อยกลับลงสู่ทะเลกว่า 200 ตัว
สาเหตุการตาย และเกยตื้นส่วนใหญ่ มาจากกิจกรรมของมนุษย์
ซึ่งสาเหตุการตาย หรือการเกยตื้นส่วนใหญ่ก็มีสาเหตุจากกิจกรรมมนุษย์ ทั้งจากเครื่องมือประมง กลืนกินขยะทะเล ปัญหามลพิษปนเปื้อนในน้ำทะเล และการเสียชีวิตเนื่องจากโรคตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันหลายกรณีก็ยังไม่ทราบสาเหตุการตายที่แน่ชัด
ด้วยเหตุนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสนธิกำลังบุคลากร ระดมความรู้และเครื่องมือในการศึกษา วิจัย เพื่อช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากด้วยการศึกษาพิสูจน์อัตลักษณ์สัตว์ทะเลหายากเพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์
ต้องจริงจังเรื่องการท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก ทำประมงอย่างถูกวิธี ลดการปล่อยของเสียและขยะลงทะเล หลังเปิดการท่องเที่ยว ในเดือน ก.ค. นี้
นอกจากนี้ นายโสภณ ทองดี ยังกล่าวว่า ในช่วงวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการประกาศปิดอุทยานกว่า 140 แห่ง มนุษย์ได้อยู่ห่างจากธรรมชาติ ปล่อยให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว ซึ่งมีรายงานการพบเห็นสัตว์ทะเลหายากบ่อยครั้งในหลายๆ พื้นที่
ซึ่งในเดือนกรกฎาคมนี้ จะเริ่มเปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เราจึงต้องดำเนินการท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก การทำประมงอย่างถูกวิธี การลดการปล่อยของเสียและขยะลงทะเลอย่างจริงจัง ซึ่งบทเรียนที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นผลจากการกระทำของมนุษย์ต่อสัตว์ทะเลหายาก หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เราอาจสูญเสียสัตว์ทะเลหายากไปทั้งหมด และลูกหลานคงได้เห็นเฉพาะเพียงภาพถ่ายเท่านั้น หน้าที่ของเราคือรักษาทรัพยากรทางทะเลให้คงอยู่และยั่งยืน เพื่อคืนให้ลูกหลานเราได้ชื่นชม และอนุรักษ์ต่อไป
การป้องกันสัตว์ทะเลหายาก ดีกว่าการรักษา
ด้าน พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) เปิดเผยว่า การร่วมมือครั้งนี้อาจเป็นครั้งแรกของโลกที่จะใช้นิติวิทยาศาสตร์กับสัตว์ ซึ่งทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็มีความพร้อมและยินดีที่จะร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพิสูจน์และชันสูตรหาสาเหตุการตายของสัตว์ทะเลหายาก ทั้งเพื่อการศึกษาวิจัย และสืบหาความยุติธรรมให้แก่สัตว์ทะเลหายาก
ขณะเดียวกัน ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ด้านวิชาการเราจะยึดหลัก “การป้องกันดีกว่าการรักษา” ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลที่สำคัญจำเป็น การพิสูจน์ทราบสาเหตุการตาย หรือการเกยตื้นจะเป็นประโยชน์สำคัญอย่างยิ่งในอนาคต
โดยทีมสัตวแพทย์จะใช้องค์ความรู้ทางวิชาการมาช่วยลดโอกาสการเกยตื้น และการตาย ขณะเดียวกันก็ใช้ในด้านการศึกษาวิจัย และเรียนรู้จากความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และนานาประเทศต่อไปในอนาคต