การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมกันจัดทำโครงการศึกษา และเผยแพร่รายงาน Thailand tourism confidence index หรือดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เพื่อสะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวปัจจุบัน และคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวที่กําลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยการศึกษาดังกล่าวได้มีการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวน 400 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10 – 25 พฤษภาคม 2563 พร้อมกับเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงเฉพาะคนที่มีรายได้ตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป เกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวในไตรมาสหน้า หรือไตรมาสที่ 3/2563 และความคาดหวังเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
นักท่องเที่ยวชาวไทย 64% มีแผนการเดินทางไปต่างจังหวัด ในช่วงไตรมาสที่ 3/2563
จากการสำรวจพบว่า ในไตรมาสหน้า ประชาชน 64% มีแผนการเดินทางไปยังต่างจังหวัด โดย 35% มีแผนเดินทางไปยังจังหวัดใกล้เคียงและพักค้างคืน ขณะที่ 27% จะเดินทางไปในจังหวัดที่ห่างไกลที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางหรือต้องเดินทางทางอากาศ และ 25% เดินทางในจังหวัดใกล้เคียงและไม่พักค้างคืน
ขณะเดียวกัน ส่วนใหญ่ 76% วางแผนที่จะพัก 1-3 วัน โดยคาดว่าจะพักในโรงแรมมากที่สุด 41% รองลงมาคือ พักรีสอร์ท 29% และพักบ้านญาติ 25% ตามลำดับ ส่วนช่วงเวลาในการเดินทาง พบว่า ประชาชนจะมีการเดินทางในช่วงวันหยุดยาวอาสาฬหบูชา และเข้าพรรษามากที่สุด
ส่วนใหญ่เลือกภาคใต้ เป็นจุดหมายของการเดินทาง
สำหรับแผนการท่องเที่ยวในไตรมาส 3/2563 พบว่า จุดหมายปลายทางในการเดินทางของคนไทย เป็นดังนี้
อันดับ 1 ภาคใต้ 38%
อันดับ 2 ภาคเหนือ 32%
อันดับ 3 ภาคกลาง 26%
อันดับ 4 ภาคตะวันออก 24%
อันดับ 5 กรุงเทพฯ 19%
อันดับ 6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17%
อันดับ 7 ภาคตะวันตก 11%
คนไทย 77% ให้ความสนใจแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ
สำหรับรูปแบบแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด ได้แก่
อันดับ 1 แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ 77%
อันดับ 2 อาหารและผลไม้ 37%
อันดับ 3 แหล่งท่องเที่ยวนวัตวิถี 35%
การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางไปต่างจังหวัด
เมื่อสอบถามประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในไตรมาสหน้า ผลการสำรวจพบว่า ประชาชน 65% มีความคิดเห็นว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางไปต่างจังหวัด และ 27% คิดว่าจะเดินทางเมื่อจำเป็นเท่านั้น ขณะเดียวกันมีเพียง 8% เท่านั้นที่ไม่สนใจสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
ส่วนใหญ่ 42% เห็นว่าควรมีการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
นอกจากนี้ ผลการสำรวจ หากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังระบาดไปทั่วโลก ประชาชนควรเตรียมรับมืออย่างไร พบว่า ส่วนใหญ่ 42% เห็นว่าควรมีการรณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการดูแลซึ่งกันและกัน และช่วยกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โดยช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งบุคลากรสาธารณสุข และผู้นำชุมชน เมื่อมีคนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเข้ามาพักอาศัย
รองลงมา 29% เห็นว่าควรปิดประเทศ และค่อยๆ ผ่อนปรนความเข้มงวด โดยมีมาตรการเฝ้าระวังอย่างจริงจัง และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และ 22% เห็นว่าควรเปิดประเทศ และมีมาตรการที่เข้มงวดในการเดินทางเข้า – ออก ของผู้เดินทางทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ