การกระทรวงพาณิชย์ เผยครึ่งปีแรก 2563 ไทยส่งออกทุเรียนสดไปตลาดโลก พุ่งถึง 1,411 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะตลาดจีน ขยายตัว 140% ชี้ผู้ประกอบการขอใช้สิทธิส่งออกด้วย FTA อาเซียน–จีน สัดส่วนเต็ม 100% ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดไปจีน แนะรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้า เน้นการผลิตแบบปลอดสารพิษ ใช้ช่องทางขายออนไลน์เจาะตลาดมากขึ้น
6 เดือนแรกปี 63 ไทยส่งออกทุเรียนไปตลาดโลก ขยายตัวถึง 73% มูลค่า 1,411 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามสถานการณ์การส่งออกของไทย และการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นเศรษฐกิจสำคัญของประเทศและรายได้หลักของเกษตรกรไทย พบข่าวดี ไทยยังคงครองแชมป์ประเทศผู้ส่งออกทุเรียนอันดับหนึ่งของโลก ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดต่างประเทศ โดยทุเรียนสดมีสัดส่วนการส่งออก 69% ของการส่งออกผลไม้สดทั้งหมดของไทย ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. – มิ.ย. 2563) ไทยส่งออกทุเรียนสดไปตลาดโลก พุ่งถึง 1,411 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ถึง 73%
จีน เป็นตลาดเบอร์ 1 ของไทย ตามมาด้วยฮ่องกง และตลาดอาเซียน
โดยจีนถือเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย มีมูลค่า 1,022 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนแบ่งตลาด 73% ของการส่งออกทุเรียนสดทั้งหมด ขยายตัวกว่า 140% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562
ตามด้วยฮ่องกง มูลค่า 207 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนแบ่งตลาด 15% ขยายตัว 34% และอาเซียน มูลค่า 164 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนแบ่งตลาด 12% ขยายตัว 25% (เวียดนามเป็นตลาดส่งออกหลัก)
เอฟทีเอ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกทุเรียนของไทยเติบโตได้ดี โดย 17 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าทุเรียนสดให้ไทยแล้ว
นางอรมนทรัพย์ทวีธรรมอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้ข้อมูลว่าเอฟทีเอมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกทุเรียนของไทยเติบโตได้ดีเนื่องจากช่วยให้ประเทศผู้นำเข้าที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยไม่เก็บภาษีนำเข้ากับทุเรียนไทยจึงทำให้ได้แต้มต่อในการแข่งขันกับคู่ค้าจากประเทศอื่น
ทั้งนี้ ปัจจุบัน 17 ประเทศคู่เอฟทีเอของไทย ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย ชิลี และเปรู ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าทุเรียนสดให้ไทยแล้ว เหลือเพียงเกาหลีใต้ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าทุเรียนจากไทย 36% ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. – มิ.ย. 2563) ไทยส่งออกทุเรียนสดไปประเทศคู่เอฟทีเอ รวม 1,396 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 99% ของการส่งออกทุเรียนไทยทั้งหมด ขยายตัว 74% จากช่วงเดียวกันของปี 2562
ผู้บริโภคนิยมผลไม้ปลอดสารพิษมากขึ้นแนะผู้ประกอบการเลี่ยงการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสถิติการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ พบว่าทุเรียนมีการขอใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกสูงเป็นอันดับต้น โดยเฉพาะในปี 2562 การส่งออกทุเรียนสดไปจีนมีการขอให้สิทธิเอฟทีเออาเซียน–จีน สูงเป็นอันดับที่ 1 เมื่อเทียบกับสินค้าที่ส่งออกไปจีนทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนเต็ม 100% ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดไปจีนทั้งหมด
ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานสินค้า และพัฒนาคุณภาพการผลิต โดยพิถีพิถันตั้งแต่การเพาะปลูก การบรรจุหีบห่อ มีใบรับรองสุขอนามัยพืช รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง เนื่องจากผู้บริโภคหันมานิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ควรใช้ช่องทางการขายออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น และให้ทุเรียนไทยครองแชมป์ในตลาดอย่างยั่งยืน