Tuesday, December 6, 2022
More

    สำรวจเผย LGBTQ เป็นนักเรียนกลุ่มหลักที่ยังต้องเผชิญกับปัญหาการถูกรังแกในโรงเรียน

    รายงานเสนอผลการวิจัยสถานการณ์การรังแก และเสวนาแนวทางแก้ไขปัญหานักเรียนรังแกกัน ภายใต้โครงการนักเรียนก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียน และโซเชียลมีเดีย สนับสนุนงบประมาณโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

    นักเรียนไทย 40.6% เผยเคยเจอปัญหาการถูกรังแกในโรงเรียน

    โดยจากการจัดเก็บกับกลุ่มเป้าหมายนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
    จำนวน 23,787 คน ซึ่งสุ่มจาก 225 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่นำมาเป็นตัวแทนของนักเรียนในทุกภูมิภาค ทั้งได้รับความร่วมมือจากศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครอง และช่วยเหลือนักเรียน (ฉก.ชน.สพฐ.) ในกระบวนการสุ่มคัดเลือกโรงเรียน


    ผลการวิจัยพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์เคยถูกรังแก 40.6% พบสูงสุดอยู่ในเด็กระดับประถมศึกษา โดยกลุ่มที่ถูกรังแกมากที่สุดคือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ มากถึง 58.9% ของผู้ถูกรังแกทั้งหมด ส่วนพฤติกรรมการรังแกที่พบมากสุดคือการล้อเลียน และดูถูกเชื้อชาติ

    โดยเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในห้องเรียนช่วงเวลาที่ครูไม่อยู่ และการรังแกในโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) ที่พบบ่อยคือการล้อเลียน และการกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม พบในกลุ่มเด็กมัธยมมากกว่าเด็กประถม

    แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือการให้ความช่วยเหลือของครูพบว่ามีครูที่ลงจัดการแก้ไขการรังแกอยู่ที่ 35.9%

    ตัวเลขปัญหาการถูกรังแกของนักเรียนไทย

    งานวิจัยที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการรังแกเกือบ 3 หมื่นโรงเรียน

    ทั้งนี้ข้อมูลงานวิจัยสถานการณ์การรังแกที่จัดเก็บในครั้งนี้ จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเครื่องมือจัดการแก้ไขปัญหาการรังแก อาทิ
    – รูปแบบการจัดกิจกรรมแบบ Face to Face
    – การพัฒนาระบบการเรียนรู้ออนไลน์ E-Learning สำหรับนักเรียน และ E-Training สำหรับครู

    เพื่อเป็นชุดการเรียนรู้แนวทางออกแบบจัดการแก้ไขปัญหาการรังแกในโรงเรียน ซึ่งจะเผยแพร่ และเป็นทางเลือกให้ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้ง 29,871 โรงเรียนได้เรียนรู้ ควบคู่กับนักเรียน

    เพื่อนำไปสู่การออกแบบพัฒนาแนวทางจัดการ แก้ไขปัญหา และป้องกันการรังแกในโรงเรียนด้วยตนเองได้ รวมทั้งโครงการได้ประสานงานกับสำนักปลัดกระทรวงศึกษา เพื่อการขยายผลไปสู่โรงเรียนในสังกัดการศึกษาเอกชน สังกัดกรุงเทพมหานคร และสังกัดกรมการปกครองท้องถิ่น