Friday, December 8, 2023
More

    สำรวจเผยรายได้ของครอบครัวเปราะบางที่มีเด็กเล็ก ลดกว่า 81% จากพิษโควิด-19

    รายงานสำรวจผลกระทบที่ทางกลุ่มครอบครัวเปราะบางที่มีเด็กเล็กได้รับจากการระบาดของโควิด-19 โดย TDRI ด้วยการสำรวจออนไลน์ที่เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และสำนักงานงานสถิติแห่งชาติ

    ระหว่างวันที่ 27 เม.ย. – 18 พ.ค. 63 จำนวนตัวอย่าง 27,986 (มีผู้ตอบแบบสอบถามจากทุกจังหวัดในประเทศไทย) พบว่า ครอบครัวที่มีเด็กเล็กถูกผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็กในเกือบทุกด้าน (ตัวเลขเทียบระหว่างสัดส่วนในครอบครัวมีเด็กกับสัดส่วนในครอบครัวไม่มีเด็ก)


    ครอบครัวเปราะบางที่มีเด็กเล็ก รับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ยุคโควิด-19

    โดยพบว่าความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของครัวเรือนที่มีเด็กเล็กในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เกิดจากหลายช่องทาง เช่น
    – มีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของรัฐ หรือโรงเรียนปิดตามมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐ
    – บางครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก และขาดผู้ดูแล จึงต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ดูแลเด็ก
    – เมื่อเด็กไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อาหารกลางวัน และนมจากศูนย์ฯ ทำให้ครอบครัวมีรายจ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้น
    นอกจากนี้ยังมีรายจ่ายในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันไวรัสให้แก่เด็กด้วย

    ครอบครับเปราะบางที่มีเด็กเล็ก รับภาระรายจ่ายเพิ่มกว่า 50% ในวิกฤตโควิด-19

    ทั้งนี้ยังพบว่าครอบครัวเปราะบางที่มีเด็กเล็กได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็ก ดังจะเห็นได้จากตัวเลขเทียบระหว่างสัดส่วนในครอบครัวเปราะบางที่มีเด็กเล็ก กับสัดส่วนในครอบครัวเปราะบางที่ไม่มีเด็กเล็ก ดังนี้

    – รายได้ลดมากกว่า 81% ในกลุ่มครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก เทียบกับ 70% ในกลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีเด็กเล็ก เพราะมีสัดส่วนที่เป็นคนทำงานไม่ประจำ หรือธุรกิจนอกระบบมากกว่า
    – รายจ่ายเพิ่มกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 และคิดเป็นสัดส่วนครัวเรือนมากกว่า (13% เทียบกับ 10%)
    – หนี้ในระบบเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่า (18% เทียบกับ 13%)
    – หนี้นอกระบบก็เพิ่มในสัดส่วนมากกว่า (13% เทียบกับ 9%)

    ตลอดจนสายป่านสั้นกว่า คือสามารถอยู่ในภาวะปิดเมืองแบบที่ผ่านมาได้ในระยะเวลาสั้นกว่า เช่น ตอบว่าอยู่ได้ไม่เกิน 1 เดือนมีสัดส่วนสูงกว่า (21% เทียบกับ 18.5%) ถูกกระทบในช่องทางต่าง ๆ จากโควิด-19 ในสัดส่วนที่สูงกว่า (77% เทียบกับ 68%)

    และเมื่อแยกตามมาตรการปิดเมือง เช่น เคอร์ฟิว ปิดร้านค้า จำกัดร้านอาหาร ห้ามเดินทาง ก็ถูกกระทบมากกว่า ความสามารถในการแก้ปัญหาน้อยกว่า โดย 27-31% ตอบว่าแก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนครอบครัวที่ไม่มีเด็กมี 24-26% ตอบว่าแก้ปัญหาไม่ได้

    ตัวเลขวิกฤตของครอบครัวเปราะบางที่มีเด็กเล็ก ยุคโควิด-19

    รัฐควรควรมีระบบสวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า

    ทั้งนี้ TDRI ได้ชี้ว่าสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ครอบคลุม และไม่เพียงพอของระบบสวัสดิการในปัจจุบัน รวมถึงการมี ‘คนจนกลุ่มใหม่’ อันแสดงถึงปัญหาการตกหล่นของผู้สมควรได้รับความช่วยเหลือมีความรุนแรงขึ้นกว่าในภาวะปกติ พบว่าทางออกในเรื่องนี้คือการมี “ระบบสวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า” ที่จะสามารถเป็นตาข่ายรองรับไม่ให้ครัวเรือนที่มีเด็กเล็กตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก

    นอกจากนี้ การออกมาตรการใด ๆ ที่จะกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวที่เปราะบาง เช่น การปิดศูนย์ดูแลเด็กเล็ก รัฐควรมีการวางแผนรับมือหรือช่วยเหลือชดเชยให้กับครัวเรือนเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นหลักประกันว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะไม่ถูกปล่อยให้เผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง