แม้ว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศของไทย จะยังคงมีอุปสรรคที่สำคัญคือสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่ยุติของโรค COVID-19 แต่สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทย กำลังปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพ
เฉพาะเดือน ก.ค. 63 คนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศ 7.40 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 3.56 หมื่นล้านบาท
กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยรายงานสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งข้อมูลเบื้องต้น ครั้งที่ 1 จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบว่า มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจำนวน 7.40 ล้านคน-ครั้ง หดตัวร้อยละ 45.54 สร้างรายได้ 3.56 หมื่นล้านบาท หดตัวร้อยละ 59.76 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยสะสม 8 เดือน อยู่ที่ 35.73 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 0.24 ล้านล้านบาท
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศไทยสะสมตั้งแต่เดือน มกราคม – กรกฎาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 35.73 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า หดตัวลงร้อยละ 60.43 ส่วนรายได้สะสมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 0.24 ล้านล้านบาท หดตัวร้อยละ 60.96 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ซึ่งจากข้อมูลทางสถิติจะเห็นได้ว่า การท่องเที่ยวภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น ประกอบกับมีช่วงวันหยุดยาว และมาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านโครงการเราเที่ยวดัวยกัน/กำลังใจ โดยเริ่มตั้งแต่ 15 กรกฎาคม – 31 ตุลาคม 2563
10 จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวไทยไปเยือนมากที่สุดในเดือน ก.ค.63
อันดับ 1 กรุงเทพมหานคร จำนวน 974,554 คน
อันดับ 2 กาญจนบุรี จำนวน 673,801 คน
อันดับ 3 เพชรบุรี จำนวน 607,071 คน
อันดับ 4 นครราชสีมา จำนวน 533,779 คน
อันดับ 5 ชลบุรี จำนวน 447,880 คน
อันดับ 6 เชียงใหม่ จำนวน 401,316 คน
อันดับ 7 ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 393,124 คน
อันดับ 8 สงขลา จำนวน 344,180 คน
อันดับ 9 พระนครศรีอยุธยา 342,138 คน
อันดับ 10 ฉะเชิงเทรา 234,565 คน
สถานการณ์ COVID-19 ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเปิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ในเดือนกรกฎาคม 2563 นับเป็นเดือนที่ 4 ที่ไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่ยุติของโรค COVID-19 ยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการเปิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ
ซึ่งการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 (ฉบับที่ 1) ต่อเนื่อง มาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 (ฉบับที่ 6) และประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เรื่อง เงื่อนไขในการอนุญาตให้อากาศยานทำการบินเข้าออกประเทศไทย (ฉบับที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ส่งผลให้การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของบุคคลทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติสามารถกระทำได้โดยไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการท่องเที่ยวและต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ในกรณีสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ยังไม่มีการอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศ ดังนั้นตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม 2563 จึงไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย
ทิศทางการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศไทย
อ้างอิงจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับเงื่อนไขในการอนุญาตให้อากาศยานทำการบินเข้าออกประเทศไทย (ฉบับที่ 2) รวมถึงมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 ตามประกาศ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อ เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจึงยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นเป็นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก
ดังนั้นกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำคู่มือการปฏิบัติตามมาตรการ ผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 8 เพื่อเป็นแนวทาง ในการปฏิบัติสำหรับเจ้าของกิจการ ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการตามโครงการคนไทยร่วมพลังป้องกันโรค (Clean Together) มีเนื้อหาครอบคลุมข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับความปกติใหม่ในมิติการท่องเที่ยว
คาดดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3/2563 ปรับตัวดีขึ้น
ขณะเดียวกันสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย 2/2563 อยู่ที่ 12 โดยการคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 62 จาก 200 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวอยู่ในระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2553 อย่างไรก็ตามดัชนี ความเชื่อมั่นคาดการณ์ในไตรมาสที่ 3/2563 อยู่ที่ 37 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นแต่ยังต่ำกว่าระดับปกติ
โดยข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลสถิติการท่องเที่ยวภายในประเทศของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า การท่องเที่ยวภายในประเทศมีจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ช่วงเดือน เมษายน 2563 อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยกำลังปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพ