ปัจจุบันกลุ่มอาหารฮาลาลมีความสำคัญและเติบโตมากขึ้น ด้วยประชากรชาวมุสลิมที่มีอยู่ทั่วทุกประเทศ ตลาดอาหารฮาลาลจึงเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีผู้บริโภคประมาณร้อยละ 29 ของประชากรโลก
อุตสาหกรรมฮาลาลในสเปนมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านยูโร
ประชากรชาวมุสลิมอาศัยอยู่ในประเทศสเปนมีประมาณ 2 ล้านคน จึงทำให้มีการบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลจำนวนมาก ขณะเดียวกันสเปนยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว Halal-friendly ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 37 ของชาวมุสลิมทั่วโลก มีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคนต่อปี จึงทำให้อุตสาหกรรมฮาลาลทั้งอาหารและการท่องเที่ยวมีมูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านยูโร (ประมาณ 37,256 ล้านบาท)
เผยการเติบโตด้านอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศสเปน ขยายตัวถึงร้อยละ 62
สำนักงานส่งเสริมการค้าในประเทศ (สคต.) ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน สรุปข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในสเปน มีการบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองฮาลาลและมีการขยายตัวทั้งกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมและผู้บริโภคทั่วไป โดยในปี 62 มีการขยายตัวร้อยละ 62 ตามรายงานตลาดกลางสินค้าการเกษตรแห่งบาร์เซโลนาและบริษัทที่ได้รับการรับรองฮาลาลมีจำนวน 300 แห่งโดยร้อยละ 95 คือธุรกิจในด้านอาหาร ส่วนปริมาณการผลิตอาหารเฉลี่ย 380,000 ตันโดนแบ่งเป็น ไก่ เนื้อวัว ไก่งวง และแกะ สำหรับเครื่องดื่มที่ผลิตมากที่สุดได้แก่ น้ำองุ่น ส่วนสินค้าที่ได้รับการรับรองมีประมาณ 600 ประเภทและมีแหล่งจำหน่ายถึง 900 ร้าน ส่วนร้านอาหารที่ได้รับการรับรอง Instituto Halal มีจำนวน 26 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ที่มาดริด บาร์เซโลนา คอร์โดบา กรานาด้า เซบีญา มาร์เบญา มาลากา และวาเลนเซีย
แผนเดินหน้าที่จะเพิ่มจำนวนบริษัทที่มีตรารับรองฮาลาลกว่า 1,000 แห่งใน 5 ปีข้างหน้า
Instituto Halal เป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองฮาลาลในสเปน โดยใช้เครื่องหมาย “Halal Guarantee Distinction of the Islamic Committee” ดำเนินงานตรวจสอบในห้องแลปปฏิบัติการ โดย technical auditors ผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงผู้เชียวชาญในด้าน Sharia ตามมาตรฐาน OIC ทำให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศมุสลิม โดยในอนาคตมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนบริษัทที่มีตรารับรองถึง 1,300 รายในอีก 5 ปีและสร้างงานในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกว่า 6,000 ตำแหน่งในปี 63
ไทยที่ 1 ประเทศผู้ส่งออกกลุ่มอาหารฮาลาลอันดับ 1 ของอาเซียน
ส่วนประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกกลุ่มอาหารฮาลาลอันดับ 1 ของอาเซียน เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีนและอินเดีย และติดอันดับที่ 12 ของโลก โดยปี 62 ไทยส่งออกไปทั่วโลก รวมมูลค่า 29,331 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะอาหารในกลุ่ม จำพวกข้าว ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง อาหารทะเลแปรรูปและกระป๋อง และน้ำตาล เนื่องจากได้เปรียบด้านวัตถุดิบต้นน้ำ ขณะเดียวกับตลาดอาหารฮาลาลยังเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีผู้บริโภคประมาณร้อยละ 29 ของประชากรโลก