Wednesday, May 24, 2023
More

    ภาพรวมสินค้าส่งออก 7 เดือนแรกปี 63 พบอัญมณีครองแชมป์อยู่ที่ 12,070 ล้านดอลลาร์

    เผยทิศทางการส่งออกของไทยช่วง 7 เดือนแรก ปี 2563 และการปรับตัวต่อไปยุคโควิด-19

    การส่งออกช่วง 7 เดือนแรกของไทยยังติดลบอยู่ที่ 7.7%

    พบว่าเศรษฐกิจไทยในวิกฤติโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งปัจจัยหลักส่วนหนึ่งมาจากภาคการส่งออก ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศในสัดส่วนเกือบ 70% ของ GDP ทั้งยังพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก และผลพวงจากโควิด-19 ยังทำให้เศรษฐกิจการค้าโลกชะลอตัว


    โดยช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ภาคการส่งออกของไทยยังติดลบที่ 7.7% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว นับเป็นอีกหนึ่งรายได้หลักที่ยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวนั้น ทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่าสิ่งที่ไทยควรมุ่งเน้นคือภาคการผลิต และส่งออกสินค้าที่เป็นดาวรุ่งทั้งในสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม โดยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และมองวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เหมาะสม

    สินค้าและตลาดของไทยที่ยังขาดความหลากหลาย ทำให้การค้าไทยยังไม่แน่นอน

    ด้านสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า การค้าไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน เพราะสินค้า และตลาดของไทยไม่หลากหลาย ผู้ผลิตสินค้าที่มีศักยภาพส่งออกกระจุกตัวแค่ในกลุ่มเล็ก ๆ ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ เพื่อให้ธุรกิจไทยมีศักยภาพในการส่งออกมากขึ้น จะต้องพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย และมีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และเชื่อมโยงการค้ากับประเทศในภูมิภาคอย่างส่งเสริมกัน ไม่ใช่แข่งขัน

    ทั้งปัจจัยที่ทำให้การค้าโลกเปลี่ยนแปลงในเวลานี้ เช่น การกระจายความเสี่ยงเพื่อลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป หันมาสนใจในภูมิภาคตนเองมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือใช้แพลตฟอร์มการค้าในรูปแบบต่าง ๆ การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ ไทยมีศักยภาพในการพัฒนาได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ไทยมีความสามารถในการผลิตและแข่งขัน

    อัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำ) แชมป์สินค้าส่งออกมูลค่าสูงสุด 7 เดือนแรก ปี 63

    ด้านสำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สินค้าไทยหลายรายการมีศักยภาพที่สามารถผลักดันการส่งออกไทยให้กลับมาฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งไทยมีความสามารถในการผลิต และได้เปรียบในแง่ของความปลอดภัยสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้มีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก แต่ต้องควบคุมคุณภาพมาตรฐานให้น่าเชื่อถือด้วย

    นอกจากนี้กลุ่มสินค้าเพื่อรองรับชีวิตวิถีใหม่(New Normal) มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีเช่นกัน เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารเลี้ยงสัตว์ เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยางเพื่อการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์ โดย 5 สินค้าดาวรุ่งที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตา ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ได้แก่
    – อัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำ) / 12,070 ล้านดอลลาร์ / +33.7%
    – ผลิตภัณฑ์ยาง / 6,466 ล้านดอลลาร์ / +1.6%
    – ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป / 4,062 ล้านดอลลาร์ / +11.5%
    – รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ / 1,482 ล้านดอลลาร์ / +5.2%
    – ทูน่ากระป๋อง / 1,368 ล้านดอลลาร์ / +10.2%

    อนึ่งผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การส่งออกของไทยต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว เพราะการหดตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหากีดกันทางการค้าในรูปใหม่ แนวโน้มค่าเงินบาท และราคาน้ำมันที่ยังคงเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทย

    โดยสนค.จะรวบรวมข้อมูลจากการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการกำหนดแนวนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้าให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป