Friday, December 9, 2022
More

    ตลาดแรงงานเริ่มฟื้นตัว หลังเดือนสิงหาคม 2563 พบผู้มีงานทำ 38.05 ล้านคน

    รายงานผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการจ้างงานในภาคบริการของประเทศไทย พบสัญญาณดีในการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในประเทศ

    สิงหาคม 2563 พบผู้มีงานทำจำนวน 38.05 ล้านคน

    โดยบทวิเคราะห์ของ TDRI ฉบับนี้ได้เปิดเผยว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่เริ่มบรรเทาลง และภาครัฐที่ได้ออกมาตรการผ่อนปรนมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมของเดือนสิงหาคม 2563 พบสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานชัดเจนขึ้น พบผู้มีงานทำจำนวน 38.05 ล้านคน มากขึ้นจากเดือนสิงหาคมปี 2562 ที่ 37.61 ล้านคน จำนวนผู้ว่างงาน 0.72 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.9% ของแรงงานทั้งหมด


    แต่ยังมีผู้มีงานทำน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ผู้ทำงานไม่เต็มเวลา) ถึง 7.81 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.54 ล้านคน หรือ 28.9% แสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานยังฟื้นตัวไม่ครบทุกสาขา จากข้อมูลอ้างอิงของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

    จำนวนผู้มีงานทำในภาคบริการ เดือนสิงหาคม 2563 เพิ่มเป็น 19.68 ล้านคน

    ด้านแรงงานในภาคบริการ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบที่สุดจากโควิด-19 พบจำนวนผู้มีงานทำฟื้นตัวจาก 18.94 ล้านคน ในเดือนสิงหาคม 2562 เพิ่มมาเป็น 19.68 ล้านคน ในปี 2563 และเห็นการฟื้นตัวอย่างเด่นชัดของตลาดแรงงานภาคบริการรายสาขา ซึ่งพบว่าจำนวนผู้มีงานทำโดยเปรียบเทียบของเดือนสิงหาคม ฟื้นตัวทั้งหมด 13 สาขา แต่ยังคงมีจำนวนผู้มีงานทำลดลงเพียง 2 สาขาเท่านั้น จึงเป็นสัญญาณอันดีจากการฟื้นตัวที่มาจากภาคเศรษฐกิจไทย

    กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ อาจทำให้ผู้ว่างงานในภาคบริการสูงขึ้นว่าเดิมถึง 2-4 เท่า

    อย่างไรก็ตาม TDRI ยังได้เปิดเผยว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของภาคธุรกิจและผู้บริโภค รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และห่วงโซ่อุปทานอาจจะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ (New Normal) เกิดขึ้น และส่งผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจโดยตรง และกับการจ้างงานในภาคบริการของประเทศไทย เทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งก็พบว่า ภายหลังการระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้ว่างงานในภาคบริการอาจจะสูงขึ้นว่าเดิมถึง 2-4 เท่า หรือ 5-6 เท่า ในสาขาของบริการ ขึ้นอยู่กับสมมติฐานการฟื้นตัวของ GDP ของภาคบริการ

    นอกจากนี้เศรษฐกิจก่อนช่วงโควิด-19 เดิมทีอ่อนแออยู่แล้ว ประกอบกับภัยแล้งรุนแรง ความหวังให้ภาคเกษตรเป็นแหล่งดูดซับแรงงานจากภาคบริการเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ อาจไม่สามารถใช้เป็นวิธีการบรรเทาผลกระทบได้อีกเหมือนกับการเกิดวิกฤตในครั้งก่อน ๆ

    ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาการว่างงาน

    1.ต้องรีบดำเนินการให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยอุปสงค์ในประเทศโดยเร็วรวมทั้งเพิ่มบทบาทของเศรษฐกิจฐานราก เช่น การท่องเที่ยวชุมชน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเป็นแหล่งจ้างงานชุมชน และลดความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจหากประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงมาตรฐานผ่อนคลายที่เหมาะสมภายใต้มาตรฐาน SHA (Safety and Health Administration)

    2.เมื่อไม่นานมานี้ WHO ให้ความเห็นว่า โควิด-19 อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ที่จะอยู่ร่วมกับคนไปตลอดเช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Transformation) ต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง เช่น การซื้อสินค้าออนไลน์ การแพทย์ทางไกล การศึกษาออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุด แรงงานจะต้องมีความหยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปใหม่โดยเร็ว (Digital Citizen)

    3.เดิมทีเศรษฐกิจภาคบริการ ประกอบไปด้วยแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าวทำงานรวมกันอยู่มากกว่า 10 ล้านคน ลำพังการผ่อนผันให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยคนไทยนั้นมีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของ GDP

    ดังนั้น มาตรการส่งเสริมไทยเที่ยวไทยคงช่วยให้เศรษฐกิจภาคบริการฟื้นตัวได้ยาก มาตรการผ่อนคลายให้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เป็น Big Spenders หรือ High Value Added Tourists ซึ่งในอดีตก่อนโควิด-19 ระบาดมีมูลค่ามหาศาลมากกว่า 13% ของ GDP ทยอยผ่อนคลายบางกลุ่มบางพวก (ที่พิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยงต่ำที่จะเป็น โคโรน่าไวรัส Spreaders)

    ให้ทยอยเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้บ้างในช่วง Tourist High Season ไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 จะส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ร้านขายของที่ระลึก ร้านค้า ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ พวก Super Stores ทั้งหลายก็จะพลอยฟื้นตัว และจ้างแรงงานเพิ่มตามไปด้วย ปัญหาการขาดรายได้อย่างรุนแรงก็จะบรรเทาลงได้บ้าง