รายงานการส่งออกขนุนไทย พบมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เตรียมดันขนุนทอดกรอบเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่มีศักยภาพในการส่งออก
“ขนุนพันธุ์ทองประเสริฐ” แปรรูปสู่ขนุนทอดกรอบ เพิ่มมูลค่าส่งออก
การลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนบ้านโป่งสะท้อน อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง เพื่อสำรวจศักยภาพการแปรรูป “ขนุนพันธุ์ทองประเสริฐ” เป็นสินค้าขนุนทอดกรอบโดยกรมต่าง ๆ ในกระทรวงพาณิชย์
พบว่าสามารถต่อยอดเป็นสินค้าที่มีศักยภาพสูงในการทำตลาดทั้งใน และต่างประเทศ เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดกลุ่มรักสุขภาพได้ดี เพราะเป็นอาหารว่างที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และสามารถทดแทนขนมขบเคี้ยวที่มีขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาดได้
และที่สำคัญขนุนพันธุ์ทองประเสริฐ ยังปลูกได้ง่าย ให้เปอร์เซ็นต์เนื้อในผลเยอะ สามารถรองรับอุตสาหกรรมการแปรรูปเพื่อการส่งออกได้ ทั้งพร้อมต่อการพัฒนาเป็นสินค้าชุมชนที่มีศักยภาพ ในการจำหน่ายในประเทศ และการขยายตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ
กรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมดัน “ขนุนทอดกรอบ” เป็น GI
ด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะดำเนินการศึกษารายละเอียดของขนุนทอดกรอบว่ามีคุณสมบัติเข้าข่ายที่จะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ได้หรือไม่ หากทำได้ จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
ส่งออกขนุนไทยครึ่งแรกปี 2563 มีมูลค่ากว่า 13 ล้านดอลลาร์
สำหรับการส่งออกขนุนของไทยในช่วง 6 เดือนแรกปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) พบมีมูลค่าสูงกว่า 13 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 24.94% โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่
1.จีน
-มูลค่าการส่งออก 7,217,647 ดอลลาร์
– เพิ่ม 6.16%
2.เวียดนาม
– มูลค่าการส่งออก 5,709,021 ดอลลาร์
– เพิ่ม 54.22%
3.สปป.ลาว
– มูลค่าการส่งออก 162,566 ดอลลาร์
– เพิ่ม 464.01%
5.เยอรมนี
– มูลค่าการส่งออก 85,179 ดอลลาร์
– เพิ่ม 682.46%
6.เมียนมา
– มูลค่าการส่งออก 63,976 ดอลลาร์
– เพิ่ม 34,486.61%
โดยปัจจุบันคู่เจรจาเอฟทีเอ 17 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าขนุนสดที่ส่งออกจากไทยแล้ว ยกเว้นเกาหลีใต้ที่เก็บภาษีนำเข้าขนุนสดที่อัตรา 36%
ส่วนสินค้าขนุนอบแห้งหรือขนุนทอดกรอบของไทยไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าใน 15 ประเทศคู่เอฟทีเอ ยกเว้นเพียงเกาหลีใต้ อินเดีย และสปป.ลาว ที่คงภาษีนำเข้าที่อัตรา 36% 30% และ 5% ตามลำดับ