อีกเทศกาลระดับชาติของไทยอย่างงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ วนมาให้อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ไทยได้กลับมาคึกคักกันอีกเป็นครั้งที่ 25 ว่าแต่คอนเซปต์งานในปีนี้คืออะไร ทิศทางสื่อสิ่งพิมพ์ไทยจะยังมีที่ยืนอย่างมั่งคงในยุคเทคโนโลยีครองเมืองได้หรือไม่ มาลองหาคำตอบกัน
งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ซึ่งมาในคอนเซปต์ “No กองดอง”
มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25” (Book Expo Thailand 2020) ที่จัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) จะมาในคอนเซปต์ “No กองดอง” ซึ่งจะเน้นการจัดงานเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคนิวนอร์มัล ด้วยการเสิร์ฟกิจกรรมทั้งใน รูปแบบของไฮบริดอีเวนต์ (Hybrid Event) ผสมผสานระหว่างความเป็นออนกราวด์ (On Ground) และออนไลน์ (Online) ผ่านทางเว็บไซต์ ThaiBookFair .com ควบคู่กัน
ตลาดสื่อสิ่งพิมพ์ ยังโตแตะ 20,000 ล้านในปี พ.ศ. 2561
หากมองย้อนไปตามเส้นทางการเติบโตของตลาดสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ที่ผลรวมรายได้อยู่ที่ประมาณ 29,300 ล้านบาท จะพบดังนี้
– ปี พ.ศ. 2558 ประมาณ 27,900 ล้านบาท
– ปี พ.ศ. 2559 ประมาณ 27,100 ล้านบาท
– ปี พ.ศ. 2560 ประมาณ 23,900 ล้านบาท
– ปี พ.ศ. 2561 ประมาณ 20,000 ล้านบาท
คนไทยร้อยละ 47 ยังคงเลือกซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามผลสำรวจของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2561 ระบุว่าช่องทางหลักที่คนนิยมซื้อหนังสือมากที่สุด ยังคงเป็นร้านหนังสือมากถึงร้อยละ 47 ส่วนอีกร้อยละ 35 เน้นการมาซื้อที่งานหนังสือซึ่งจัดปีละ 2 ครั้ง นอกจากนั้นร้อยละ 15 ยังสั่งหนังสือเป็นเล่มทางออนไลน์ และมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่อ่านบน E-Book และยังพบว่าไทยมีจำนวนร้านหนังสือทั่วประเทศ ประมาณ 783 แห่ง แบ่งเป็น
– ร้านหนังสือรายใหญ่ 614 ร้าน
– ร้านหนังสืออิสระ 169 ร้าน กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ
คนไทยร้อยละ 69.2 นิยมอ่านสื่อสังคมออนไลน์
ด้านสัดส่วนการอ่านหนังสือของคนไทย ผลสำรวจจากงานสัปดาห์หนังสือปี พ.ศ. 2561 ระบุไว้ว่า คนไทยอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยอยู่แล้วเดือนละ 3 เล่ม รับกับผลสำรวจการอ่านของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่บอกว่าปี พ.ศ. 2561 คนไทยใช้เวลาอ่านทุกรูปแบบเฉลี่ย 80 นาทีต่อวันแบ่งเป็น
– อ่านสื่อสังคมออนไลน์ ร้อยละ 69.2
– อ่านหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 60.5
– ความรู้ทั่วไป ร้อยละ 48.9
– วารสาร ร้อยละ 40.3
– ศาสนา ร้อยละ 38.1
– นิตยสาร ร้อยละ 31.1
– หนังสืออ่านเล่น ร้อยละ 29.7
– อ่านแบบเรียน ร้อยละ 26.1
วัยรุ่นมีสถิติอ่านหนังสือมากสุดที่ 109 นาทีต่อวัน
และผลการสำรวจในครั้งนี้ ยังพบว่าคนไทยตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไปมีตัวเลขการอ่านอยู่ที่ 78.8% หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2558 1.1% ทั้งยังใช้เวลาอ่านทุกรูปแบบเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 80 นาทีต่อวัน แบ่งตามอายุได้ดังนี้
– วัยรุ่น 109 นาทีต่อวัน
– เด็ก 83 นาทีต่อวัน
– วัยทำงาน 77 นาทีต่อวัน
– ผู้สูงอายุ 47 นาทีต่อวัน
ทั้งนี้จากฐานของคนส่วนใหญ่ที่ยังนิยมการอ่านหนังสือในรูปแบบเล่มมากกว่าอ่านผ่านทางออนไลน์ รวมถึงไลฟ์สไตล์การเดินตามร้านหนังสือมากเป็นส่วนใหญ่ ทั้งสัมผัสจากหน้ากระดาษ กลิ่นของน้ำหมึกที่ยังคงเสน่ห์ของการอ่านได้อย่างไม่อาจมีสื่อใดมาแทนที่ แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ไทยยังคงยืนอยู่ในสังคมได้อย่างยั่งยืน แม้จะไม่ใช่สื่อทางเลือกอันดับหนึ่งอีกต่อไปก็ตามที
รายได้งานสัปดาห์หนังสือออนไลน์ปีแรกอยู่ที่ 36 ล้านบาท
โดยหากมองภาพการเคลื่อนไหวล่าสุดของวงการอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ไทยอย่างงานสัปดาห์หนังสือออนไลน์ปีแรก ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มี.ค. – 5 เม.ย. 63 จะพบว่าตลอดระยะเวลา 12 วันที่จัดงานมียอดรวมผู้เข้ามาใช้งานเว็บไซต์ www. ThaiBookFair .com มากถึง 660,000 ราย แบ่งเป็น
– ผู้ใช้งานรายใหม่ (New Visitor) จำนวน 68%
– ผู้ใช้งานซ้ำ (Returning Visitor) จำนวน 32%
เป็นผู้ใช้งานจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 60% ส่วนต่างจังหวัด 40%
และยอดจำหน่ายที่เกิดขึ้นตลอดการจัดงานที่มีสำนักพิมพ์กว่า 200 แห่งนั้นอยู่ที่ 36 ล้านบาท ซึ่งแม้จะอยู่ในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีที่แล้ว ซึ่งจัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติศิริกิติ์ที่มีรายได้อยู่ที่ 494 ล้านบาท แต่ด้วยปัจจัยด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด-19 และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานมาเป็นออนไลน์ครั้งแรก ฯลฯ ทำให้ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ยังมองว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจi
งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 เริ่มวันที่ 30 กันยายน – 11 ตุลาคม 2563 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี และทาง ThaiBookFair .com