รายงานผลสำรวจ Thai Youth 2020 “COVID-19: Challenges & Opportunities for Transformation” ที่เจาะลึกคนรุ่นใหม่ไทย ถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญในวิกฤตโควิด-19
รายละเอียดกลุ่มตัวอย่างคนรุ่นใหม่ที่ทำการสำรวจ
โดย Sea Insights หน่วยงานที่รับผิดชอบการวิจัยด้านนโยบายสาธารณะภายใต้ Sea Group (ผู้นำในการให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มระดับโลก) จึงได้ร่วมกับ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ทำการสำรวจคนรุ่นใหม่ 70,000 คนทั่วอาเซียน อายุระหว่าง 16-35 ปี และยังเจาะลึกเฉพาะคนรุ่นใหม่ของไทย เพื่อค้นหาว่าพวกเขาเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง พบความน่าสนใจดังนี้
คนรุ่นใหม่ไทยร้อยละ 76 ต้องเจออุปสรรคในการเรียนหรือการทำงาน ในวิกฤตโควิด-19
ด้านสิ่งที่คนรุ่นใหม่ไทยต้องเผชิญจากวิกฤตโควิด-19 ใน 3 มิติ เริ่มจาก
การเรียน-การทำงาน พบว่าร้อยละ 76 ระบุว่าต้องเจออุปสรรคในการเรียนหรือการทำงานในวิกฤตโควิด-19 โดยนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มคนในวัยทำงานจากภาคสังคมและเกษตรกรรมพบอุปสรรคมากที่สุด โดยร้อยละ 36 ระบุว่าสาเหตุหลักมาจากคุณภาพของอินเทอร์เน็ต
ด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจพบว่าโควิด-19 ทำให้คนรุ่นใหม่ร้อยละ 63 หันมาใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 48 เรียนรู้ถึงความสำคัญของการมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินที่เพียงพอ และร้อยละ 44 เรียนรู้ที่จะซื้อในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น
ส่วนด้านสุดท้ายอย่างผลกระทบทางการเงิน พบว่าคนรุ่นใหม่ร้อยละ 26 ต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการเงิน โดยสิ่งที่น่าสนใจคือคนรุ่นใหม่ในธุรกิจสตาร์ทอัพและกิจการเพื่อสังคม มีอุปสรรคทางการเงินมากที่สุด ตามมาด้วยผู้ประกอบการและผู้รับจ้างที่มีรายได้ไม่แน่นอน
คนรุ่นใหม่ไทยร้อยละ 81 เพิ่มการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลขึ้นอีกอย่างน้อยหนึ่งช่องทาง
นอกจากนั้นยังพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ไทยมีการปฏิวัติตัวเองใน 3 ด้าน ได้แก่
1.วิถีดิจิทัล (Digitalization)
– ร้อยละ 81 เพิ่มการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลขึ้นอีกอย่างน้อยหนึ่งช่องทาง
– ร้อยละ 41 เริ่มหันมาใช้เครื่องมือดิจิทัลเป็นครั้งแรก
2.การเรียนรู้ (Lifelong Learning)
– ร้อยละ 49 ของเยาวชนไทยใช้เครื่องมือการเรียนการสอนออนไลน์มากขึ้น
– ร้อยละ 30 ของกลุ่มวัยทำงานได้ใช้เครื่องมือการเรียนการสอนออนไลน์เพิ่มขึ้น
3.การเงิน (Financing)
– ร้อยละ 63 เรียนรู้ที่จะบริหารการเงินอย่างระมัดระวังมากขึ้น
– ร้อยละ 25 ของผู้ที่พบอุปสรรคทางการเงิน ใช้ช่องทางการกู้เงินจากธนาคาร
คนรุ่นใหม่ไทย ร้อยละ 63 แสดงให้เห็นถึงสัญญาณแห่งการฟื้นตัว
นอกจากการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลแล้ว พบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ไทยจำนวนมากยังแสดงให้เห็นถึงสัญญาณแห่งการฟื้นตัว และความสามารถในการปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 โดยร้อยละ 63 แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและการฟื้นตัวท่ามกลางสถานการณ์ อาทิ
– เรียนรู้ที่จะฟื้นตัวในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
– เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และมองหารูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ