รายงานการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบ จำนวน 1,098 คน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลของสวนดุสิตโพล ด้วยการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พบความน่าสนใจดังนี้
กลุ่มแรงงานที่สูบบุหรี่น้อย ร้อยละ 17.76 สูบบุหรี่น้อยลงหลังโควิด-19 ทุเลา
โดยจากการเปรียบเทียบการสูบบุหรี่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 (เม.ย.-พ.ค.63) กับช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 บรรเทาลง (มิ.ย.-ส.ค.63) พบความถี่ในการสูบบุหรี่ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานสูบบุหรี่น้อย (1-5 มวนต่อวัน) ร้อยละ 17.76
มีการสูบบุหรี่น้อยลงหลังโควิด-19 ทุเลา โดยมีสาเหตุสำคัญตามลำดับ ดังนี้
– รายได้ลดลง
– ต้องการดูแลสุขภาพ
– กังวลว่าการสูบบุหรี่จะทำให้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น
อีกทั้งร้อยละ 64.10 ของกลุ่มดังกล่าวยังมีการวางแผนที่จะเลิกสูบบุหรี่อีกด้วย
กลุ่มแรงงานที่สูบบุหรี่มาก ร้อยละ 5.01 มีการสูบบุหรี่มากขึ้นหลังโควิด-19 บรรเทา
กลับกันพบว่ากลุ่มแรงงานที่สูบบุหรี่มาก (11-15 มวนต่อวัน) ร้อยละ 5.01 มีการสูบบุหรี่มากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 ทุเลา เนื่องจากมีความเครียดในการทำงานและจากวิกฤตโควิด-19
และร้อยละ 29.09 มีการวางแผนที่จะเลิกสูบบุหรี่ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามลำดับ ดังนี้
– ลดปริมาณการสูบ
– หักดิบ
– การใช้ยา
ทั้งยังพบว่าส่วนของผู้ใช้แรงงานที่ไม่เคยสูบบุหรี่ ส่วนใหญ่มีบุคคลใกล้ชิดสูบบุหรี่ ทั้งมีความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพจากคนใกล้ชิดที่สูบบุหรี่
ผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 84 อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรรมการกำกับทิศทางของ ศจย. เผยว่า ปัญหาความยากจนกับการสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่ควบคู่กันไปตั้งแต่ในระดับโลกถึงระดับครัวเรือน หรือแม้แต่ตัวบุคคล
ในระดับโลกพบว่า ผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 84 อยู่ในประเทศยากจนที่เรียกว่าประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะกับประชากรวัยทำงานซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ
ดังนั้นการแก้ปัญหาการติดบุหรี่ในประชากรวัยทำงานจึงเป็นการปลดล็อกให้กับการพัฒนาประเทศโดยตรง และสาเหตุสำคัญของการติดบุหรี่ในประชากรวัยแรงงาน มีทั้งปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบการทำงาน และปัญหาส่วนตัว
เริ่มจากเชิงโครงสร้าง พบว่าสภาพการจ้างและสภาพการทำงานที่มีชั่วโมงยาวนานระหว่าง 8-12 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้สร้างความเครียดกับคนงานได้มากจนอาจต้องหาทางผ่อนคลายด้วยการสูบบุหรี่
ส่วนปัญหาส่วนตัวนั้น อาจมาจากการเลียนแบบบริโภคตามเพื่อนร่วมงาน โดย
ไม่ได้รับรู้ผลร้ายอย่างแท้จริงของการสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่แม้เพียงมวนเดียว ก็มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดเพิ่มเกือบ 20 เท่า
ด้วยสาเหตุทั้งหมดนี้ทำให้การแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องทำทั้งการปรับเปลี่ยนสภาพการจ้าง การทำงานให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น และการให้ความรู้ในเรื่องผลร้ายของการสูบบุหรี่ทั้งต่อส่วนตัว และส่วนรวมอย่างจริงจัง
ศจย.ยังได้กล่าวว่า การเลิกสูบบุหรี่ด้วยวิธีการลดจำนวนมวนบุหรี่ลง ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม และยังคงมีผลต่อสุขภาพเช่นเดิม เพราะการสูบบุหรี่แม้เพียงมวนเดียวต่อวัน ก็มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มเกือบ 20 เท่า และเพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมองถึงร้อยละ 40 ดังนั้น หากต้องการลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือด จำเป็นต้องเลิกสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า